ใบเงิน ใบทอง ใบนาก สรรพคุณและประโยชน์
ใบทอง มีชื่อสามัญว่า Gold leaves (บ้างก็เรียกว่า ใบรวยทอง ทองลงยา ทองนพคุณ) ส่วน ใบเงิน มีชื่อสามัญว่า Caricature plant (บ้างเรียกว่า ทองคำขาว) มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันว่า Graptophyllum pictum (L.) Griff.
ใบนาก มีชื่อสามัญว่า P. Kewense มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pseuderanthemum atropurpureum "Trycolor" และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นากนอก เป็นต้น โดยทั้งสามชนิดนั้นจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันคือวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
ลักษณะของใบเงิน ใบทอง ใบนาก
ต้นใบเงิน มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนิวกินี ส่วนต้นใบนาก มีถิ่นกำเนิดในเขตมรสุมในเมืองร้อน[3] ใบเงิน ใบทอง และใบนากเป็นพรรณไม้ชนิดเดียวกัน โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบอยู่ในที่ร่มรำไร มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต้องการแสงแดดเป็นบางเวลา และทั้งใบเงิน ใบทอง และใบนาก ต่างก็มีสรรพคุณทางยาเช่นเดียวกัน (ภาพแรกคือต้นใบเงิน ภาพสองคือต้นใบทอง ส่วนภาพที่สามคือต้นใบนาก)
ภาพจาก : medthai.com ใบเงิน
ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ สลับกันตามลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ใบเป็นลายมีหลายสีและจะเรียกตามลักษณะที่ด่าง เช่น ใบเงิน แผ่นใบเป็นสีเขียว ที่กลางใบจะมีด่างสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนจาง ๆ แทรกอยู่
ภาพจาก : medthai.com ใบทอง
ใบทอง แผ่นใบเป็นสีเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ๆ มีสีเหลืองเข้มแทรกตามขอบใบ
ภาพจาก : medthai.com ใบนาก
ใบนาก แผ่นใบเป็นสีเขียวแกมน้ำตาลหรือสีเขียวอมม่วง และมีรอยด่างเป็นสีขาวและสีม่วงที่ไม่เป็นระเบียบ ส่วนขอบใบเป็นสีชมพูเข้ม
ดอกใบเงิน , ดอกใบทอง , ดอกใบนาก ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีม่วงแดงหรือสีแดงเข้ม โคนกลีบดอกเป็นหลอดรูปกรวย ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นปาก 2 ปาก แยกเป็นปากบนและปากล่าง ปากล่างห้อยหัวลงมี 3 กลีบ ส่วนปากบนจะงอนขึ้นด้านบน ด้านในกลีบดอกมีขนอ่อนเต็มไปหมด ส่วนด้านนอกเกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 ก้านอยู่ข้างเกสรเพศเมีย และจะผลิดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (ภาพแรกดอกใบเงิน ภาพสองดอกใบทอง และภาพสามดอกใบนาก)
ผลใบเงินใบทอง ผลเป็นฝัก ลักษณะเป็นรูปทรงรี ปลายฝักเป็นติ่งแหลม เมื่อฝักแห้งจะแตกออกได้ และไม่ค่อยติดฝัก
สรรพคุณและประโยชน์ของใบเงิน ใบทอง ใบนาก
- เกสรช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (เกสร) ทุกส่วนของลำต้นใช้รักษาอาการอิดโรย อ่อนกำลัง (ทุกส่วนของลำต้น)
- ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาลดไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้พิษร้อน ถอนไข้พิษ แก้ไข้กำเดา ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ช่วยดับพิษปอดพิการ ล้อมตับดับพิษ (ช่วยป้องกันการทำลายของตับจากสารพิษและความร้อน) แก้กาฬตับ (ใบ)เกสรมีรสเย็นหวานเล็กน้อย เป็นยาแก้ไข้ร้อน (เกสร)
- ทุกส่วนของลำต้นใช้ปรุงเป็นยารักษาอาการไข้ และยังใช้เข้ายารักษาไข้สำหรับเด็กในกรณีที่เป็นไข้หอม (ทุกส่วนของลำต้น)
- น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหูรักษาอาการปวดหู ขับแมลงเข้าหู หยอดหูแก้คัน (น้ำคั้นจากใบ)
- ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ใบ)
- น้ำคั้นจากใบใช้ปรุงเป็นยาดื่มรักษาอาการท้องผูก (น้ำคั้นจากใบ)
- ใบมีสรรพคุณแก้บิดมูกเลือด ขับพยาธิ (ใบ) ช่วยแก้ขัดเบา มูกเลือด พิษเบื่อเมา และพยาธิ (ทุกส่วนของลำต้น)
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (น้ำคั้นจากใบ)
- ดอกมีรสเฝื่อนเล็กน้อย ใช้ชงดื่มเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ดอก)
- ใบนำมาตำแล้วเอามาใช้เป็นยาทารักษาอาการปวดบวม รักษาฝี และใช้ห้ามเลือดได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกเงี่ยงปลาตำ (ใบ)
- น้ำคั้นจากใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันได้ (น้ำคั้นจากใบ)
- ทุกส่วนของลำต้นใช้ทำเป็นยาเขียวกระทุ้งพิษ (ทุกส่วนของลำต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : homedecorthai