นางแย้มป่า สรรพคุณและประโยชน์
นางแย้มป่า ชื่อสามัญ Nangyam
นางแย้มป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum infortunatum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum viscosum Vent.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
สมุนไพรนางแย้มป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปิ้งขาว ปิ้งเห็บ (เชียงใหม่), ปิ้งพีแดง ฮอนห้อแดง (เลย), ต่างไก่แดง (ขอนแก่น), ขัมพี (พิษณุโลก), กุ๋มคือ ซมซี (สุโขทัย), ขี้ขม (ภาคใต้), พอกวอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โพะคว่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปิ้งขม, ปิ้งหลวง, ปิ้งเห็บ, ปุ้งปิ้ง, พินพี, โพพิง เป็นต้น
ลักษณะของนางแย้มป่า
ต้นนางแย้มป่า มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย อินโดนีเซีย เกาะสุมาตรา ไปจนถึงฟิลิปปินส์ โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม มีความสูงของต้นประมาณ 0.5-4 เมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งอ่อนและต้นเปราะ เป็นสันสี่เหลี่ยม ตามลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสีแดงหรือสีดำอมน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มักขึ้นตามชายป่าดิบและที่โล่งชื้น ชอบขึ้นในดินเย็นชื้น บริเวณใต้ต้นไม้
ใบนางแย้มป่า ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามข้อเป็นคู่ตั้งฉากกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปหัวใจ ปลายใบสอบแหลม โคนใบสอบหรือเว้า ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ฟันตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-25 เซนติเมตร แผ่นใบแข็งเป็นสีเขียวเข้ม มีขนสากระคายมือ มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร
ดอกนางแย้มป่า ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นสีขาว ดอกจะรวมกลุ่มกันเป็นช่อแน่น ช่อดอกยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร ช่อดอกมีขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลางดอกเป็นสีชมพูม่วงหรือสีม่วงเข้ม มีขน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 4-5 ก้าน ลักษณะเป็นเส้นยาวออกมาให้เห็นชัดเจน ดอกจะมีกลิ่นหอมในตอนเช้า โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนภุมภาพันธ์
ผลนางแย้มป่า ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผิวผลมัน เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือดำ ผลมีกลีบเลี้ยงสีแดงหุ้มอยู่ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด
ภาพจาก : pharmacy.mahidol.ac.th
สรรพคุณและประโยชน์ของนางแย้มป่า
- ใบเอามาซ้อนกัน 3 ใบ หรือ 7 ใบ แล้วใช้ห่อขี้เถ้าร้อนและใบฮ่อมตำและใบเครือเขาน้ำตำ ใช้ประคบศีรษะแก้อาการปวดศีรษะข้างเดียว (ใบ)
- รากนางแย้มป่าใช้ต้มเป็นยาแก้ไข้ (ราก)
- รากช่วยรักษาลำไส้อักเสบ (ราก)
- ตำรายาไทย ใช้รากเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ราก)
- ช่วยแก้ไตพิการ (โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่นข้น ปัสสาวะเหลืองหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ร่วมด้วย) (ราก)
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ฝนกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก)
- ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นสดจิ้ม คนเมืองจะใช้ดอกอ่อนของนางแย้มป่ามาใช้ใส่แกงหน่อไม้
- ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าเปลือกลำต้นใช้กินแทนหมากได้
- ต้นนางแย้มป่าสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ (แต่ต้นนางแย้มป่าไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกไว้ในบ้าน ด้วยเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีภูตผีปีศาจสิงอยู่ หากนำมาปลูกไว้ภายในบ้านอาจทำให้คนในบ้านหวาดผวา เสียขวัญ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : dnp.go.th