PeopleLens อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายแว่นตา ใช้สวมใส่บริเวณศีรษะของผู้ใช้งาน พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Microsoft ด้วยเทคโนโลยี AI และ AR เพื่อช่วยให้เด็กที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถสื่อสารกับคนปกติได้ แม้ว่าจะมองไม่เห็น แต่สามารถรับรู้ได้ว่าคนที่ตัวเองสนทนาด้วยอยู่ตรงไหน และควรหันหน้าไปทางไหน
การไม่สามารถระบุทิศทางได้ เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของคนที่มองไม่เห็น เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าคนที่กำลังสนทนาด้วยนั้นเป็นใคร นั่งอยู่ตรงไหน การใช้หูฟังเข้าช่วยอาจจะช่วยได้บ้าง แต่หากในห้องนั้น ๆ มีคนมากกว่า 1 คน คงเป็นเรื่องที่ยากเกินไปสำหรับคนตาบอดที่จะสามารถแยกแยะได้อย่างแม่นยำ
PeopleLens เป็นผลงานการพัฒนาจากทีมวิจัย The University of Bristol ซึ่งสนับสนุนโดย Microsoft ในการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยสื่อสาร เพื่อให้เด็กตาบอดสามารถสื่อสารกับคนปกติ และร่วมวงสนทนากับคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองต่างจากคนอื่น อีกทั้งยังช่วยให้ร่วมวงสนทนาได้เหมือนคนที่ไม่มีปัญหาทางสายตา
อุปกรณ์ช่วยในการสื่อสาร หรือ PeopleLens เป็นแว่นตาแบบ AR ที่พัฒนาด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือเด็กตาบอดหรือบกพร่องการมองเห็นสามารถรับรู้และตอบสนองได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยผู้ใช้งานจะต้องสวมอุปกรณ์ไว้บริเวณศรีษะ เมื่อมีคนเรียกชื่อหรือหันมามองเด็กที่สวมใส่อุปกรณ์ อุปกรณ์จะออกเสียงชื่อคนนั้น ๆ ทำให้เด็กตาบอดสาสามารถหันไปในทิศทางที่คู่สนทนานั่งอยู่ จึงช่วยให้เด็กรับรู้ถึงตำแหน่งได้แม้ว่าจะมองไม่เห็น
PeopleLens จะช่วยสร้างแผนที่จำลอง (People Map) ตำแหน่งของคู่สนทนาที่นั่งอยู่รอบ ๆ เด็กที่สวมใส่อุปกรณ์ จึงช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเด็กตาบอดก็รู้ว่าคู่สนทนานั่งอยู่ตรงไหน และในขณะเดียวกันคู่สนทนาก็รับรู้ว่าเด็กตาบอดนั้นกำลังมองมา มองตา และสนทนากันเหมือนคนปกติ
อุปกรณ์นี้จึงเป็นการช่วยลดความแตกต่าง ทำให้คนที่บกพร่องสามารถกำกิจกรรมที่เคยเป็นอุปสรรคได้เหมือนคนทั่วไป อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเด็กที่มองไม่เห็นให้สามารถสื่อสารและโต้ตอบได้ PeopleLens ไม่ได้มีไว้ใส่ในชีวิตประจำวัน เอาไว้ใช้สำหรับการเข้าสังคมหรือต้องรวมกลุ่มกับคนปกติ
อุปกรณ์ PeopleLens ยังเป็นเพียงอุปกรณ์ตัวต้นแบบ ทีมพัฒนายังคงรับสมัครเด็กที่มีปัญหาทางสายตาช่วงอายุ 5-11 ปี ในสหราชอาณาจักร มาร่วมทดสอบก่อนนำมาใช้งานจริงต่อไป
ที่มาข้อมูลและภาพ: microsoft, techcrunch, yourstory
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech