คอลัมน์ : Tech Times ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
อาจเป็นเพราะเราอยู่ในยุคที่มีโซเชียลมีเดีย เป็นแกนกลางเชื่อมโยงสังคมที่หลากหลายเข้าหากัน พอสงครามรัสเซีย-ยูเครนอุบัติขึ้น จึงได้เห็นปรากฏการณ์การรวมตัวของผู้คนจากทุกมุมโลกในการประกาศ “สงครามไซเบอร์” กับมหาอำนาจอย่างรัสเซียแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสงครามยุคอื่น
หนึ่งในปฏิบัติการ “เอาคืน” ครั้งสำคัญของชาวเน็ต เกิดขึ้นภายใต้ปฏิบัติการของแฮกเกอร์ที่ผนึกกำลังกันภายใต้ชื่อ “Anonymous” ที่ประกาศเปิดสงครามไซเบอร์กับรัสเซียผ่านทวิตเตอร์ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือวันแรกที่กองทัพรัสเซียบุกยูเครน
โดยมีแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ “Anonymous” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 7.4 ล้านคน เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าว
“Anonymous” ประกาศว่าวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการครั้งนี้มี 2 ประการ
หนึ่ง เพื่อปลดปล่อยชาวรัสเซียให้หลุดพ้นจากการควบคุมของรัฐ และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงเกี่ยวกับสงคราม
สอง เพื่อช่วยให้ชาวยูเครนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ได้มากที่สุด
ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา “Anonymous” อ้างว่าได้แฮกเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐ ทั้งของรัสเซียและเบลารุส (พันธมิตรหลักของรัสเซีย) ไปแล้วหลายแห่ง นอกจากนี้ยังแฮกและปล่อยข้อมูลจากดาต้าเบสของหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่เซ็นเซอร์สื่อของรัสเซีย เว็บของ Gazprom บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และเว็บของสำนักข่าว RT ที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญของรัสเซีย
เยเรมีย์ ฟอว์เลอร์ ผู้ก่อตั้ง Security Discovery บอกว่า มีความเป็นไปได้สูงว่า “Anonymous” จะพูดความจริง
เยเรมีย์ตรวจสอบดาต้าเบสของรัสเซีย 100 แห่ง พบว่ามีถึง 92 แห่งก่อกวน โดยเป็นดาต้าเบสของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของรัฐ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States : CIS) หรือการรวมตัวกันของบรรดาประเทศเกิดใหม่ที่แยกตัวมาจากอดีตสหภาพโซเวียต โดยพบว่ามีไฟล์จำนวนมากเปลี่ยนชื่อเป็น “putin_stop_this_war”
นอกจากนี้ เขายังพบว่าการทำงานของเซิร์ฟเวอร์หลายแห่งหยุดทำงานในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับที่ “Anonymous” อ้างว่าเป็นช่วงเวลาที่ลงมือปฏิบัติการ และทางกลุ่มได้เจาะเข้าระบบข้อมูลด้านความมั่นคงที่ใส่รหัสไว้จำนวนมาก
แม้กระทั่งสำนักข่าว RT ยังรายงานว่า เว็บไซต์ของตนรวมถึงเว็บของสื่อหลักในเบลารุสโดนกลุ่ม “Anonymous” โจมตีอย่างหนัก โดยมีการแปะข้อความ “Stop the war.” ไว้ที่หน้าเพจ
เยเรมีย์วิเคราะห์ว่า ในสายตาคนที่ต่อต้านสงคราม “Anonymous” คือ “โรบินฮู้ด” หรือฮีโร่ที่เข้ามาปลดปล่อยยูเครนจากการกดขี่ของรัสเซีย จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ “Anonymous” ถึงมีชาวเน็ตทั่วโลกมากดไลก์ให้กำลังใจอย่างล้นหลาม แม้ “cyber warfare” จะจัดว่าเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งก็ตาม
มารียาน เบลีย์ อดีตผู้บริหาร สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ มองว่าคือการประท้วงของโลกยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 และเชื่อว่าสงครามไซเบอร์จะมีมากขึ้นอีกในอนาคต เพราะมีต้นทุนต่ำและให้ผลเร็ว
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของสงครามไซเบอร์ คือ ฝ่ายโจมตีสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ง่าย และท่ามกลางหมอกควันแห่งสงคราม ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดความ “ผิดพลาด” ไม่ว่าจะโดย “ตั้งใจ” หรือไม่ก็ตาม
หากย้อนดูประวัติของ “Anonymous” จะพบว่า เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์โชกโชนในการก่อสงครามไซเบอร์
ก่อนหน้านี้ “Anonymous” อ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีฐานข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐและจีน รวมถึงของลัทธิไซแอนโทโลจีและกลุ่มไอเอสมาแล้ว และเป็นผู้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่าง Arab Spring และ Occupy Wall Street อย่างเต็มตัว
“Anonymous” บอกว่าตนเองเป็นการรวมกลุ่มของ “ชนชั้นแรงงาน” ทั่วโลกที่ต้องการ “อนาคต” ที่ดีกว่าสำหรับมนุษยชาติ โดยยึดมั่นในหลักการที่ว่าด้วยเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล เสรีภาพในการแสดงคำพูดและความคิดเห็น ความรับผิดชอบจากเอกชน และรัฐบาลต่อการกระทำของตน และการเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการกระทำของ “Anonymous” หรือไม่ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “Anonymous” ได้สร้างปรากฏการณ์นักรบไซเบอร์ที่น่าจับตาแห่งยุคดิจิทัลขึ้นแล้ว
อ่านข่าวต้นฉบับ: Anonymous ฮีโรแห่งยุคดิจิทัล