รำลึกการจากไป โจน ดิเดียน
ผ่านสารคดี Joan Didion : The Center Will Not Hold
นอกจากบทบาทของนักเขียนบทภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าของฮอลลีวู้ด โจน ดิเดียน ถือเป็นนักเขียนที่ผลิตงานเขียนหลากหลายแนว ทั้งข่าว บทความ งานเขียนเชิงสารคดี และยังมีนวนิยายของตัวเองที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมาอย่าง Play It as It Lays (1972) และที่โด่งดังมากอีกเล่ม เป็นหนังสือแนว Memoir หรือบันทึกความทรงจำ คือหนังสือเรื่อง “The Year of Magical Thinking” ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นหนังสือที่มีเรื่องเล่าที่ทรงพลังในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียทั้งสามีและลูกในเวลาห่างกันไม่กี่ปี ซึ่งเรื่องราวของหนังสือได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงการเยียวยาจิตใจของคนที่ยังอยู่ และต้องใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไปให้ได้ ซึ่งเจ้าของเรื่องราวนี้ก็คือชีวิตของ โจน ดิเดียน นั่นเอง
“The Year of Magical Thinking” ติด 1 ใน 100 หนังสือน่าอ่านและควรได้อ่านแห่งยุค หนังสือเล่มนี้ชนะรางวัล “National Book Award” สาขางานเขียน Nonfiction ทั้งยังเข้ารอบ Pulitzer Prize สาขาวรรณกรรมชีวประวัติ อัตชีวประวัติ โดยเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ต่อมาถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบ “ละครเวที” เปิดทำการแสดงเมื่อปี 2007 สำหรับบ้านเราหนังสือเล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อหลายปีมาแล้ว
จุดเด่นของหนังสารคดีเรื่องนี้จะพาเราไปรู้จัก โจน ดิเดียน ตั้งแต่ที่มารากเหง้า มุมมองชีวิต ความรู้สึกนึกคิดในห้วงต่างๆ ผ่านชีวิตและงานเขียนของเธอในแต่ละช่วงชีวิต ตั้งแต่ยังเป็นสาวสะพรั่งจวบจนในวัยชรา
ความน่าสนใจของสารคดีจะมีการตัดสลับด้วยการใช้เสียงของ โจน ดิเดียน บรรยายเป็นวอยซ์โอเวอร์ในสารคดี โดยเลือกงานเขียนบางช่วงบางตอนจากหนังสือหลายเล่มที่เธอเขียนไว้มาอ่านให้คนดูฟัง ซึ่งบอกได้เลยว่าภาษาเขียนของ โจน ดิเดียน นั้นมีอรรถรสยิ่ง ละเมียดละไมในจังหวะอ่อนโยน แต่กรีดลึกในยามต้องขยี้ ซึ่งกลวิธีเล่าเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ทำให้คนดูที่แม้จะไม่เคยสัมผัสงานเขียนของ โจน ดิเดียน เลยก็ยังรู้สึกอินไปกับเรื่องราวได้
ตั้งแต่ออกจากมหาวิทยาลัย และเริ่มต้นอาชีพนักเขียนบทความให้นิตยสารโว้ก (Vouge) ด้วยลีลาการเขียนที่แหวกแนวจากนิตยสารผู้หญิงทั่วไป เพราะเธอไม่เขียนงานฮาวทู หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสำหรับสาวๆ แต่เน้นไปที่การพูดถึง “ปัจเจกชน”และปรัชญาการใช้ชีวิตที่มีชั้นเชิงทางภาษาสละสลวย ซึ่ง “โจน ดิเดียน” ค้นพบพรสวรรค์นักเขียนในตัวเองผ่านสมุดบันทึกที่แม่ให้มาตอน 5 ขวบ ด้วยเหตุผลที่แม่ต้องการให้เธอเลิกบ่นและเรียนรู้ที่จะมีความสุขด้วยการจดบันทึกจากความคิดของตัวเอง ซึ่งสมุดเล่มนั้นทำให้เธอเริ่มรู้จักจินตนาการแต่งเรื่องราว และเขียนลงไป
ผ่านจากชีวิตนักเขียนนิตยสารผู้หญิง และลองเขียนนิยายเล่มแรกแล้ว โจน ดิเดียน หันหน้าสู่แวดวงงานข่าว เริ่มงานเขียนข่าวเชิงสารคดี บทความวิพากษ์สังคม ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้งานของเธอพัฒนาไปสู่การเล่าเรื่องสังคม ยุคสมัยของฮิปปี้ ยาเสพติด ดนตรีร็อกแอนดโรล อาชญากรรมสะเทือนขวัญ ช่องว่างระหว่างวัย การเหยียดสีผิว กระทั่งเข้าสู่ประเด็นการเมือง สงครามการสู้รบในต่างประเทศ
งานเขียนของเธอในเวลานั้นได้รับคำยกย่องว่าเป็นงานเขียนที่สะท้อนวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยของสหรัฐอเมริกาได้อย่างดี โดยเฉพาะงานเขียนของเธอในยุคฮิปปี้บุปผาชนที่สังเกตเรื่องราวของสังคมอเมริกันในยุคนั้นได้อย่างแจ่มแจ้งด้วยสไตล์การเขียนที่เฉียบขาด สร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา มีความรอบรู้ แม้จะเล่าเรื่องแบบปัจเจก แต่กลับมีความสากล จุดแข็งของงานเขียนเธอคือ การสะท้อนรายละเอียดที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นหัวใจของชีวิต
ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ยากที่สุด คือ การเขียนให้จบ เพราะระหว่างทางที่เขียนเธอต้องรับมือกับห้วงคำนึงที่ทำให้หวนรำลึกความเศร้านี้ออกมาเป็นระยะ และต้องทำความเข้าใจกับความคิดและจิตใจตัวเองว่า ถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้คนตายผู้เป็นที่รักได้จากไป
ภาพยนตร์สารคดี “Joan Didion : The Center Will Not Hold” ยังมีเรื่องราวบอกเล่าชีวิตของ โจน ดิเดียน ในอีกหลายบริบท ทั้งแนวคิดการทำงาน วิธีมองโลก ชีวิตส่วนตัว เป็นหนังสารคดีที่สามารถดูจนจบและได้วิธีคิดต่างๆ กลับมาใคร่ครวญได้เป็นอย่างดี เพราะหนังสารคดีได้ถ่ายทอดชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งออกมาอย่างบรรจงหมดจด ถือเป็นงานสารคดีชั้นดีที่ควรค่าแก่การรับชมไม่ว่าคุณจะรู้จัก หรือไม่รู้จัก ไม่เคยติดตามผลงานของ โจน ดิเดียน เลยก็ตาม
(ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix)
The post รำลึกการจากไป โจน ดิเดียน ผ่านสารคดี Joan Didion : The Center Will Not Hold appeared first on มติชนออนไลน์.