ภาพจาก : sanook.com
ทราบหรือไม่ว่าพริกน้ำปลา นอกจากไม่ได้จัดให้อยู่ในชุดอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุแล้วยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุโดยไม่รู้ตัว เพื่อไม่เสียเวลา เราไปติดตามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวกันเลยค่ะ
องค์การอนามัยโลกให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมได้ไม่เกินวันละ 1,400 มิลลิกรัม ซึ่งอาหารไทยส่วนมากจะมีรสจัดโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดมากและโซเดียมที่ใกล้ตัวมากที่สุดและคนมักมองข้ามคือพริกน้ำปลาที่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทยไปแล้ว เพราะจะเห็นว่าคนที่จะรับประทานอาหารมักจะคลุกเคล้าข้าวกับพริกน้ำปลา และเติมพริกน้ำปลาในอาหาร นอกจากนี้แล้วก่อนจะกินก๋วยเตี๋ยวก็มักจะเติมน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชูลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารรสเค็มมากๆ และบ่อยๆ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจ และไตวาย รวมทั้งโรคกระดูกพรุน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวอยู่แล้วจะต้องระมัดระวังอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในโรคที่เป็นอยู่
ภาพจาก : nationtv.tv
เนื่องจากโรคดังกล่าวนี้เหมือนกับภัยเงียบที่ไม่บ่งบอกอาการให้ผู้ป่วยได้รู้ คนที่เป็นก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นอะไร แต่เมื่อเป็นความดันสูงอยู่เรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นเส้นเลือดน้อยลง เส้นเลือดแข็งก็จะเปราะบางเมื่อมีความดันสูงเรื่อยๆ ไม่สามารถคุมได้แล้วเกิดเส้นเลือดแตกตามจุดสำคัญต่างๆ ก็จะทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ กลายเป็นคนพิการ และที่ร้ายแรงที่สุดคือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ฉะนั้นแล้ว คนวัยหนุ่มสาวที่ยังแข็งแรงก็ต้องระมัดระวังและควบคุมการรับประทานอาหารรสเค็ม เพื่อเป็นการป้องกันและไม่ให้เกิดการสะสมโซเดียมไว้ในร่างกายมากเกินไป อีกทั้งควรเลือกใช้เกลือหรือน้ำปลาโลว์โซเดียมที่มีจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ มาปรุงรสเค็มให้อาหารแทนน้ำปลาทั่วๆ ไปซึ่งน้ำปลาโลว์โซเดียมนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ได้ความรู้กันไปแบบนี้แล้ว ต่อไปคงต้องหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสุขภาพที่ดีของคนที่คุณรักและตัวคุณเองค่ะ
ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารเรื่องผู้หญิง