สาวออฟฟิศระวังเสี่ยงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

สาวออฟฟิศกับภาระหน้าที่การทำงานที่ต้องนั่งประจำโต๊ะเป็นเวลานาน ทำให้บางครั้งก็เผอเรอที่จะเข้าห้องน้ำให้ตรงเวลา หรือบางที่ที่ห้องน้ำอยู่ไกลจากโต๊ะทำงานก็อั้นเอาไว้ เพราะขี้เกียจเดินไป หรือรอเวลาที่เหมาะสมก่อนแล้วค่อยไปเข้าห้องน้ำ

ภาพจาก : vimut.com

สาวออฟฟิศกับภาระหน้าที่การทำงานที่ต้องนั่งประจำโต๊ะเป็นเวลานาน ทำให้บางครั้งก็เผอเรอที่จะเข้าห้องน้ำให้ตรงเวลา หรือบางที่ที่ห้องน้ำอยู่ไกลจากโต๊ะทำงานก็อั้นเอาไว้ เพราะขี้เกียจเดินไป หรือรอเวลาที่เหมาะสมก่อนแล้วค่อยไปเข้าห้องน้ำ ถ้าใครมีพฤติกรรมแบบนี้บ่อยๆ แล้วล่ะก็รับรองได้เลยค่ะว่าโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบถามหาแน่นอน ถ้าใครยังไม่รู้จักโรคนี้ว่าเป็นอย่างไร มีวิธีการป้องกันอย่างไร เรามีคำแนะนำดีๆ มาฝากค่ะ


ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้
ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ แต่จะพบมากในผู้หญิงมีครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) หรือผู้หญิงที่ชอบอั้นปัสสาวะนานๆ เป็นประจำ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ เนื่องจากหลังร่วมเพศอาจมีอาการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบซึ่งแพทย์เรียกว่าโรคฮันนีมูน สาเหตุเกิดจาการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนมากจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่อยู่ในลำไส้ของเรา โดยเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ที่กล่าวว่าโรคนี้พบมากในผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงทั้งสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนัก ซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิง ได้ง่ายกว่าผู้ชายค่ะ

ภาพจาก : secureichiban.com

อาการของโรคนี้สังเกตได้ง่ายๆ มากค่ะ สาวๆ คนไหนมีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอยและปัสสาวะบ่อยครั้ง รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ บางครั้งอาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย หรือสังเกตพบว่าปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางคนอาจขุ่นหรือมีเลือดปน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะนานๆ หรือหลังร่วมเพศ แต่โรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่บางคนอาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นเรื้อรังซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามทำให้กลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบได้ค่ะ

เมื่อสังเกตแล้วพบว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเข้าแล้วเริ่มแรกขณะที่มีอาการแสดง ควรดื่มน้ำมากๆ และไม่ควรอั้นปัสสาวะ แต่ถ้าปวดมากให้กินยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง อะม็อกซี-ซิลลิน 500 มก. ทุก 8 ชั่วโมง หรือนอร์ฟล็อกซาซิน 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุโดยการตรวจปัสสาวะ เพื่อนำปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อเอกซเรย์ หรือใช้กล้องส่องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ (Cystoscope) แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบค่ะ รู้แบบนี้แล้วหันมาเข้าห้องน้ำให้ตรงตามเวลา แล้วอย่าเผลออั้นปัสสาวะกันอีกนะคะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารเรื่องผู้หญิง