ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในผู้เป็นเบาหวาน Hypoglycemia

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในผู้เป็นเบาหวาน (Hypoglycemia) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักพบได้ในผู้เป็นเบาหวานที่รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินอยู่ โดยเฉพาะคนที่ควบคุมเบาหวาน

ภาพจาก : pobpad.com

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในผู้เป็นเบาหวาน (Hypoglycemia) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักพบได้ในผู้เป็นเบาหวานที่รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินอยู่ โดยเฉพาะคนที่ควบคุมเบาหวาน ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างน้ำตาลกับระดับอินซูลินในเลือด ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) หมายถึง ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 60 มก./ดล. โดยมีสัญญาณบอกว่าเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำดังนี้

1.เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว

2.หิวมาก มือสั่น อารมณ์หงุดหงิดง่าย

3.ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด ตาลาย ถ้าอาการรุนแรงอาจชักหรือหมดสติ

4.ถ้าเกิดในเวลากลางคืน อาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง ขณะนอนหลับ ฝันร้าย เมื่อตื่นขึ้นมาจะสังเกตได้ว่าเสื้อผ้าเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ

ภาพจาก : primocare.com

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดขึ้นได้อย่างไร

1.รับประทานอาหารน้อยกว่าปกติ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน พลาดเวลาอาหารหลัก รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา

2.ฉีดอินซูลิน หรือรับประทานยามากเกินไป

3.ออกกำลังกายหักโหม หรือทำงานหนักมากกว่าปกติ

4.รับประทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วงท้องว่าง

จะทำอย่างไรเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

1.ถ้าอาการไม่มากและเกิดขึ้นใกล้เวลาอาหาร ควรรีบรับประทานทันที หรือรีบรับประทานของว่าง เช่น ขนมปัง นม ผลไม้รสหวานก่อน

2.กรณีที่มีอาการค่อนข้างมาก แต่ยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำหวาน 1 แก้ว หรืออมลูกอม 1 - 2 เม็ด หรือน้ำตาล 2 ก้อน โดยอาการควรจะดีขึ้นภายใน 5 -10 นาที แล้วจึงรีบรับประทานข้าวหรืออาหารประเภทแป้ง แต่ถ้าสังเกตอาการตนเองแล้วยังรู้สึกไม่ดีขึ้น สามารถดื่มน้ำหวานซ้ำอีก 1 แก้ว ทันที

3.ถ้ามีอาการรุนแรงถึงขั้นหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ห้าม ให้ลูกอม หรือดื่มน้ำหวานเพราะอาจทำให้สำลัก ควรนำส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ใกล้ที่สุด โดยแจ้งแพทย์ที่ดูแลด้วยว่าเป็นโรคเบาหวาน

ภาพจาก : mgronline.com

จะป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อย่างไร

1.รับประทานอาหารให้เป็นเวลาและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง

2.ฉีดยาและรับประทานยาตามแพทย์ สั่ง (ทั้งปริมาณยาและเวลา หากจำเป็นต้องออกกำลังกายนานกว่า 30 นาที ควรรับประทานอาหารว่าง เช่น นม ขนมปัง หรือผลไม้รองท้องประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนออกกำลังกาย

3.ปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องรับประทานยารักษาโรคอื่นๆ ร่วมด้วยเพราะยานั้นอาจมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

4.แจ้งบุคคลใกล้ชิดให้ทราบว่าท่านเป็นโรคเบาหวาน และอธิบายวิธีช่วยเหลือเมื่อมีอาการผิดปกติ

5.ควรมีลูกอบ น้ำตาลก้อน หรือน้ำผลไม้พกติดตัวไว้เพื่อเดินทางยามฉุกเฉิน

6.ถ้ามีเครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้วที่บ้าน ควรเจาะเลือดเช็คระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ

รู้อย่างนี้แล้วควรดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีอยู่เสมอนะคะ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะได้ไม่มาเยือนค่ะ

ที่มา : นพ.ประทิน แสงจันทร์ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ