Mind Map กระตุ้นสมองลูกน้อย

เด็กๆ มักเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็ว ซึ่งการที่เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจเรื่องราวในห้องเรียนได้ดี ก็ช่วยให้ลูกพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้หลากหลาย

เด็กๆ มักเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็ว ซึ่งการที่เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจเรื่องราวในห้องเรียนได้ดี ก็ช่วยให้ลูกพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้หลากหลาย ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ และกระตุ้นสมองลูกให้ฝึกการคิดอย่างสมดุล คือการให้แสนล้านเซลล์สมองทั้งสองซีกเกิดการเชื่อมต่อและทำงานไปพร้อมกัน ซึ่ง Mind Map เป็นหนึ่งในตัวช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ใหม่ ช่วยเรื่องความจำ และจินตนาการของลูกอีกด้วย

Mind Map คืออะไร

Mind Map ถือเป็นเครื่องมือจัดการความคิดที่นำเอาทักษะของสมองทั้งสองซีก โดยเป็นการเชื่อมโยงกันของข้อมูลและจินตนาการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจดบันทึกใหม่ โดยเน้นการใช้สีสัน และนำสัญลักษณ์ภาพวาดมาเกี่ยวข้อง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้สมองจดจำได้ดีขึ้น แถมยังช่วยจัดระบบความคิดได้ดีอีกด้วย ซึ่งคุณแม่สามารถนำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้สอนลูกได้ง่ายๆ ในการวางแผนชีวิตประจำวัน การเรียน รวมไปถึงการฝึกแก้ปัญหาที่ช่วยให้มองเห็นทางออกเป็นภพรวม นอกจากนั้นแล้วยังช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้อีกด้วย

7 วิธีของ Mind Map เสริมสมอง

หากได้เริ่มฝึกให้ลูกใช้ Mind Map ตั้งแต่เล็กๆ โดยเฉพาะในวัยอนุบาล เป็นวัยที่รู้เรื่องขึ้น เริ่มเขียนหนังสือ และชอบวาดภาพได้อย่างถนัด ก็ถือเป็นการฝึกกระตุ้นสมอง และการคิดของลูกน้อยให้เป็นนิสัย และช่วยส่งเสริมต่อสมองและการเรียนรู้ของลูกดังนี้ค่ะ

1.กระตุ้นสมอง เนื่องจาก Mind Map ทำให้สมองสองซีกทำงานพร้อมๆ กัน ซึ่งช่วยฝึกให้สมองทำงานได้อย่างแล่นฉิวขึ้น ทำให้ลูกคิดเป็น แหลมคมขึ้นอีกด้วยค่ะ

2.เพิ่มคลังคำศัพท์ การฝึกเรื่อง Mind Map เริ่มต้นควรเป็นการให้ลูกสร้างคลังคำศัพท์ของตัวเอง จะเป็นการหัดวาดภาพแทนคำต่างๆ เช่น กิน นอน หนาว ร้อน เย็น แล้วค่อยๆ สะสมคำกริยา คำวิเศษณ์ เพื่อให้ลูกมีคลังคำศัพท์อยู่กับตัวเอง และสามารถนำไปใช้ในการเขียน Mind Map ต่อไป

3.เปิดจินตนาการ การที่ลูกได้วาดภาพแทนคำ เป็นการให้ลูกได้ใช้จินตนาการและศิลปะไปพร้อมๆ กัน ลูกอาจจะเลือกใช้ภาพที่จะอธิบายคำศัพท์นั้น โดยไม่ตรงกับที่คุณแม่หรือการรับรู้ทั่วไป แต่หากลูกเข้าใจและไม่ใช้ภาพผิดความหายไปก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงนะคะ อย่างคำว่าศาสนา คุณแม่อาจจะนึกถึงพระสงฆ์ พระพุทธรูป ลูกอาจจะนึกถึงดอกบัว เป็นต้น

4.เครื่องมือเรียนรู้ เมื่อต้องเข้าโรงเรียน การที่ฟังครูสอนหรืออ่านหนังสือเรียน หากลูกรู้จักอ่านเอาเรื่อง หรือฟังเอาเรื่องก็ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว และต่อยอดไปได้อย่างล้ำหน้าคนอื่น โดยคุณแม่อาจจะเปิดซีดีนิทานเพลง หรืออ่านนิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง แล้วมาช่วยกันสรุปเรื่องราวของนิทานภายหลังด้วย Mind Map ก็จะช่วยให้ฝึกจับประเด็น หรือจับใจความเป็น

5.ช่วยความจำ Mind Map ถือเป็นวิธีจดบันทึก ที่ลูกสามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง ลูกก็จะรู้สึกคุ้นเคย สนุก และช่วยให้จำเรื่องราวหรือประเด็นนั้นๆ ได้แบบไม่ต้องนั่งท่องจำอีกด้วย

6.ฝึกอย่างสม่ำเสมอ การเรียนรู้ Mind Map สามารถทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก แต่ด้วยนิสัยเด็กที่อยู่ไม่ค่อยนิ่ง คุณแม่ควรมีส่วนร่วมอย่างยิ่งในการฝึก Mind Map ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเรื่อง หาของรางวัลหลอกล่อ เพื่อช่วยให้ลูกมีกำลังใจในการฝึกอย่างสม่ำเสมอ

7.สร้างบรรยากาศ โดยอาจจะจัดเป็นมุม หรือจัดโต๊ะเพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากจะเขียนและวาดรูปบ่อยๆ

เตรียมอุปกรณ์ อย่างกระดาษ สีไม้ สีเมจิก สีน้ำ สีชอล์ก และปากการไฮไลต์ไว้ให้อยู่ใกล้มือ เพื่อที่ลูกจะได้หยิบมาวาดได้ตลอดเวลาค่ะ

อย่าลืมนะคะ กระตุ้นสมองลูกน้อยเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้ลูกน้อยเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาดปราชญ์เปรื่อง

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร Modern Mom ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต