คุณพ่อคุณแม่คงไม่ปฏิเสธนะคะว่า ทุกวันนี้การ์ตูนกลายเป็นสื่อที่มีบทบาทและอิทธิพลกับลูกของเราอย่างมาก เด็กบางคนติดการ์ตูนในโทรทัศน์จนไม่เป็นอันทำอะไร เช้าก่อนไปโรงเรียนก็อยู่หน้าจอ กลับมาบ้านยังไม่ทันอาบน้ำทำการบ้าน ก็มานั่งเฝ้าจอทีวีอีกแล้ว แถมหลายๆ คนยังซึมซับเอาความก้าวร้าวรุนแรงมาจากตัวการ์ตูนที่เป็นฮีโร่ในใจอีกด้วย เจอเข้าแบบนี้คุณพ่อคุณแม่คงหนักใจไปตามๆ กันนะคะ วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ มาฝากกันค่ะ อ่านดูแล้วคงช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจมากขึ้นว่า การ์ตูนมีอะไรดีถึงทำให้ลูกเราติดอกติดใจนักหนา และเราควรจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดี
ทำไมเด็กถึงชอบการ์ตูน เรื่องนี้นักจิตวิทยาได้อธิบายไว้ค่ะว่า เป็นเพราะเด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 2-6 ปี) และเด็กวัยเรียน (อายุ 6-12 ปี) เป็นวัยที่มีจินตนาการสูง เช่น เด็กจะคิดว่าสัตว์ หรือสิ่งของสามารถพูดได้ ออกความเห็นได้ ซึ่งการ์ตูนสามารถตอบสนองต่อจินตนาการตรงนี้ของเด็กได้ดี การ์ตูนสามารถเขียนให้สัตว์พูดได้เหมือนคน ทำงานได้ มีคู่ มีครอบครัวได้เหมือนคน เขียนเป็นสัตว์ประหลาด มนุษย์ต่างดาวได้ เขียนให้มีความสามารถพิเศษ บินได้ แปลงร่างได้ การ์ตูนมีจินตนาการได้ไม่สิ้นสุด เด็กจะรู้สึกว่าตัวการ์ตูนพระเอกตัวนี้เก่งจริงๆ ที่สำคัญวัยนี้จะเป็นวัยที่รับรู้และเข้าใจสิ่งที่สัมผัสอย่างรูปธรรม คือเห็นอย่างไรก็คิดอย่างนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กจะไม่สามารถอ่านหนังสือนิยายได้เข้าใจ และจินตนาการได้เหมือนกับดูการ์ตูน การ์ตูนจึงนับเป็นสื่อช่วยจินตนาการให้เด็กสามารถรับรู้ได้ง่ายขึ้น
แล้วทำไมเด็กจึงชอบการ์ตูนต่อสู้รุนแรง ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้คงไม่ใช่เด็กเท่านั้นที่ชอบความรุนแรง ผู้ใหญ่ก็ชอบเช่นกัน เนื่องจากความก้าวร้าวรุนแรงนั้น เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา จะสังเกตเห็นว่ากีฬามวย จะมีคนสนใจมาก ภาพยนตร์ ละคร ก็จะต้องมีพระเอกซึ่งเก่งในการต่อสู้ แข็งแกร่ง บึกบึน ดังนั้นการ์ตูนที่มีความรุนแรง จึงมีแนวโน้มในการเข้าถึงธรรมชาติของเด็กได้ง่าย ซึ่งผู้ใหญ่จำนวนมากก็ชอบดูด้วยซ้ำไป ถ้าการ์ตูนเรื่องไหนเขียนเรื่องผูกเรื่องได้ดี เดินเรื่องได้อย่างน่าตื่นเต้น เร้าใจ มีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงของวิเศษ เดินเรื่องฉับไว น่าติดตาม มีตลกสอดแทรกตลอด จะสามารถทำให้เด็กและผู้ใหญ่ที่ดูติดกันได้ไม่ยาก
ถ้าอย่างนั้นผลกระทบต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กเป็นอย่างไร เด็กจะมีการลอกเลียนแบบสูง เช่น เด็กก่อนวัยเรียน จะมีการลอกเลียนแบบพ่อแม่ ลอกเลียนแบบเพื่อน ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคนที่อยากจะเป็นคนเก่ง เป็นผู้ชนะ เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ และเพื่อนๆ ดังนั้นการ์ตูนที่ดำเนินเรื่องด้วยการใช้ความรุนแรงเอาชนะกัน มีพระเอกเก่งสารพัด เด็กก็ย่อมรับรู้ไปว่า การใช้กำลังความรุนแรงเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เด็กก็อยากจะเก่ง ทำทุกอย่างได้เหมือนพระเอกการ์ตูน เช่น ตีลังกา หรือกระโดดจากที่สูง ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายบุคคลอื่น ทำให้เด็กอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือโลดโผนอันตรายที่พ่อแม่ยอมรับไม่ได้แล้วพ่อแม่ควรจัดการอย่างไร คงจะเป็นเรื่องยากที่จะห้ามไม่ให้เด็กดูหรือพบเห็นการ์ตูนรุนแรงเลย และคงไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมด้วย เนื่องจากจะทำให้เด็กเก็บกดจนเกินไป และรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนคนอื่น ซึ่งอาจเกิดปมด้วยตามมาได้อีกประการหนึ่งการ์ตูนที่ใช้ความรุนแรงก็ใช่ว่าจะมีแต่โทษภัย ผลดีทางหนึ่งก็คือเป็นการระบายพลังความก้าวร้าวในตัวเด็กออกมา ซึ่งเป็นวิถีธรรมชาติของคนเราที่ต้องมีทางระบายพลังก้าวร้าวนี้
เพื่อเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส พ่อแม่จึงควรใช้การ์ตูนที่เด็กชื่นชอบนี้เป็นตัวกลางที่จะพูดคุยภาษาเด็กกับลูก เข้าใจลูก สอนลูกในสิ่งถูกผิดทั้งหลาย เนื่องจากเด็กทุกคนไม่ว่าจะได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนรุนแรงหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องผ่านวัยซึ่งมีพฤติกรรมต่อต้าน ก้าวร้าว แสดงออกผาดโผน ลองผิดลองถูกด้วยกันทุกคน ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องจัดการกับพฤติกรรมธรรมชาติเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่จะจัดการอย่างไรเท่านั้นเองเนื่องจากการ์ตูนเป็นสื่อที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับลูกมากกว่าสื่ออื่นๆ พ่อแม่จึงน่าจะนำผลผลิตของการ์ตูนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ข้อสำคัญคือพ่อแม่ต้องมีเวลาให้ลูก โดยมีทัศนคติว่าการเลี้ยงดูลูกให้ได้ดีนั้นไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าการงาน หรือการหาความสุขส่วนตัวเลย พ่อแม่ควรศึกษา ทำความรู้จักกับตัวการ์ตูนของลูกด้วย เพื่อที่จะคุยกับลูกได้รู้เรื่องในเรื่องที่เขาสนใจ เมื่อลูกทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกมา พ่อแม่ก็ต้องเสนอแนะในสิ่งที่เหมาะที่ควร นอกจากนี้พ่อแม่ยังสามารถนำการ์ตูนในลักษณะที่ไม่รุนแรง สอนเรื่องคุณธรรมต่างๆมาให้ลูกดูเปรียบเทียบ โดยที่พ่อแม่ร่วมดูกับลูกด้วยเป็นตัวอย่างสิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักไว้ก็คือ เด็กจะเลียนแบบ และทำตามที่พ่อแม่ปฏิบัติและบอกเล่า ไม่มีพระเอกนางเอกการ์ตูนเรื่องไหนที่จะมีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อลูกได้เท่ากับพระเอกนางเอกในบ้าน ซึ่งก็คือพ่อแม่นั่นเอง
ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต