ละมุด ชื่อสามัญ Sapodilla
ละมุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Manilkara zapota (L.) P.Royen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Manilkara achras (Mill.) Fosberg) จัดอยู่ในวงศ์พิกุล (SAPOTACEAE)
ละมุด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ละมุดฝรั่ง (ภาคกลาง), ชวานิลอ (ปัตตานี, มลายู, ยะลา), สวา เป็นต้น
ต้นละมุด มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนแถว ๆ ประเทศเม็กซิโก อเมริกากลาง และอินเดียตะวันตก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง พุ่มทึบ มีกิ่งก้านแตกออกเป็นชั้น ๆ รอบ ๆ ลำต้น แหล่งที่ปลูกละมุดในบ้านเราก็ที่อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยสายพันธุ์ละมุดที่นิยมปลูกนั้นก็จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด นั่นก็คือ ละมุดไทย (ละมุดสีดา) และละมุดฝรั่ง
ใบละมุด ใบเป็นใบเดี่ยว มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ท้องใบมีสีน้ำตาลอมเขียว
ดอกละมุด ลักษณะของดอกละมุดเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามง่ามกิ่ง มีกลีบรองดอกเรียงกัน 2 ชั้น กลีบดอกจะเชื่อมกันและยกตั้งขึ้น มี 6 กลีบ สีเหลืองนวล
ผลละมุด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ หรือมีปลายแหลม ผิวมีสีน้ำตาล ผลดิบจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ในยางมีสารที่ชื่อว่า “Gutto” รสฝาด แข็ง ส่วนผลสุกจะนิ่ม มีรสหวาน ไม่มียาง ข้างในผลมีเมล็ดรูปยาวรีสีดำฝังอยู่ในเนื้อ ใน 1 ผลจะมีเมล็ดประมาณ 2-6 เมล็ด
ประโยชน์ของละมุด
- ละมุดมีวิตามินซีสูงจึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคและช่วยป้องกันหวัดได้
- เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
- การรับประทานละมุดจะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
- เปลือกของลำต้นละมุด นำมาต้มปรุงเป็นยาแก้บิด (ประเทศฟิลิปปินส์)
- ยางใช้เป็นยาถ่ายพยาธิชนิดรุนแรง
- ละมุดเป็นผลไม้ที่มีเส้นใยมาก จึงช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย
- ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ทำไวน์ หรือนำมาทำน้ำละมุด
- ยางที่มีสีขาวทุกส่วนของลำต้นสามารถนำไปใช้ทำหมากฝรั่งและรองเท้าบูทได้
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , rspg ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต