ฝึกลูกอย่างไรให้ใช้เงินเป็น

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยปวดหัวกันมาแล้วเวลาโดนลูกๆ วัยรุ่นรบเร้าให้ซื้อของแบรนเนมหรูๆ ราคาแพงให้ บางคนที่พอมีกำลังทรัพย์ก็อาจจะตัดใจซื้อให้ลูกไปเป็นการตัดปัญหา

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยปวดหัวกันมาแล้วเวลาโดนลูกๆ วัยรุ่นรบเร้าให้ซื้อของแบรนเนมหรูๆ ราคาแพงให้ บางคนที่พอมีกำลังทรัพย์ก็อาจจะตัดใจซื้อให้ลูกไปเป็นการตัดปัญหา แต่บางคนอาจจะไม่สามารถหาเงินหาทองมาเนรมิตสิ่งของให้ตามที่ลูกต้องการได้ แล้วจะทำยังไงกันดีคะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เจอปัญหาแบบนี้ เรามีคำแนะนำดีๆ ในการสอนลูกให้รู้จักใช้เงินตั้งแต่ยังเล็ก ลองอ่านกันดูนะคะ 

ถ้าเราลองมองดูเด็กที่ใช้เงินกันมือเติบส่วนใหญ่ จะพบว่าเป็นเด็กที่หาเงินยังไม่ได้ด้วยตัวเอง ไม่รู้ค่าของเงินว่า กว่าที่จะได้มาแต่ละบาทแต่ละสตางค์นั้น ต้องทำงานหนักอย่างไร แต่ที่เรียกร้องเช่นนี้ได้ก็เพราะมีพ่อแม่ที่คอยหามาสนองอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เล็กจนโต ทำให้เด็กไม่รู้เลยว่า เงินทองเป็นของหายาก เขารู้เพียงว่า ถ้าเขามีบัตรเครดิตหรือ ATM และจำรหัสได้ กดเป็น เงินก็จะไหลมาเทมาก็แค่นั้นเอง และที่เป็นเช่นนี้ ก็คงต้องโทษว่า พ่อแม่ของเขาคงจะไม่ได้สอนให้รู้จักค่าของเงิน เพราะถ้าเขารู้ เขาจะไม่มีวันขอนาฬิกาแสนแพงหรือกระเป๋าถือ ใบละหลายหมื่น ที่พ่อแม่ของเขาหลายคนก็ยังไม่กล้าใช้ เพราะรู้ดีว่า จะต้องทำงานกี่เดือน จึงจะซื้อสิ่งของเหล่านี้ได้นักจิตวิทยาเชื่อว่า พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้จักวิธีใช้เงินให้เป็น และการสอนก็จะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ เราต้องการเห็นเด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องการใช้เงิน มีการใช้เงินอย่างฉลาด และจัดการเกี่ยวกับเรื่องเงินทองในชีวิตได้ ในส่วนของพ่อแม่ก็ต้องมีการสอนลูกให้รู้ค่าของเงิน ไม่ใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือกลัวจนไม่กล้าใช้ในสิ่งที่สมควร กล่าวง่ายๆ ก็คือ ต้องสอนให้เด็กๆ ใช้เงินด้วยความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ทุกคน ควรระลึกไว้เสมอว่า เด็กๆ จะยึดเอารูปแบบที่เขาเห็น จากพ่อแม่ของเขาในทุกเรื่อง รวมทั้งการใช้เงิน ถ้าคุณสั่งสอนเขาว่า เขาจะต้องใช้เงินอย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย แต่เขาเห็นคุณดื่มไวน์ขวดละแสน ต่อให้คุณสอนจนปากเปียกปากแฉะ เขาก็จะไม่ทำตามที่สอน เพราะคุณไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาเห็นเด็กทุกคนจะไม่ทำตามผู้ใหญ่สอน แต่เขาจะทำตามที่เขาเห็นพ่อแม่ทำ ดังนั้น ก่อนจะสอนอะไรแก่เขา พ่อแม่ควรสำรวจตัวเองด้วยว่าคุณได้ทำตัวอย่างที่ดีตามที่คุณสอนแล้วหรือยัง ค่านิยมของคุณเป็นอย่างไรในเรื่องของการใช้เงินการสอนให้ลูกรู้จักการใช้เงินอย่างรู้ค่านั้น ควรจะต้องเป็นไปตามวัยของเด็กด้วยนะคะ เริ่มจากเมื่อลูกของคุณยังเป็นเด็กเล็ก อายุประมาณ 3-6 ขวบ พ่อแม่อาจให้ลูกเริ่มหัดแยกขนาดของเหรียญต่างๆ เป็นกลุ่มๆ เช่น เหรียญบาท เหรียญห้า หรือเหรียญสิบบาท รวมทั้งอาจจะให้เด็กรู้จักแยกขนาด ของธนบัตรสีต่างๆ พอเด็กโตหน่อยก็สอนให้รู้จักแลกธนบัตรกับเหรียญ หรือหัดทอนสตางค์เป็นต้น

ในช่วงนี้ หากคุณพาลูกไปยังซูเปอร์มาเกต ก็อาจจะสอนให้เขาหัดดูราคาของที่ติดไว้ที่ป้าย และพูดอธิบายให้ลูกฟังอย่างง่ายๆ ว่า ของแต่ละชิ้นมีราคาต่างกันอย่างไร การสอนเช่นนี้ มิได้หมายถึงให้เด็กต้องจดจำราคาสิ่งของที่คุณซื้อ แต่ให้เขาเริ่มมีความเข้าใจว่า ของทุกอย่างที่คุณแม่ซื้อใส่ตะกร้านั้นล้วนมีราคา และราคาจะถูกแพงต่างกันออกไป คุณพ่อคุณแม่อาจจะทำให้การไปซูเปอร์มาเกต เป็นสิ่งที่สนุกสนานและเป็นการเรียนรู้ของลูกในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อคนคิดเงินกดป้ายราคาที่ขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์ คุณแม่ก็สามารถใช้โอกาสนี้สอนลูกว่า ตัวเลขราคาทั้งหมด ที่ปรากฏบนจอนั้นหมายถึงอะไรในกรณีที่ลูกอยากได้ของเล่นที่ราคาแพง คุณแม่ควรจะตกลงกับเด็กทุกครั้ง ก่อนไปซื้อของว่า คุณจะยอมให้เขาซื้อได้เพียงหนึ่งชิ้น ที่ราคาไม่เกินกี่บาท แล้วให้เด็กตัดสินใจเองว่า เขาอยากจะซื้ออะไรที่อยู่ในช่วงราคาที่คุณกำหนด แต่ถ้าราคาสูงเกินไป นอกเหนือข้อตกลง คุณจะต้องกล้าพอที่จะปฏิเสธเขา (แม้ว่าคุณมีเงินพอที่จะซื้อให้เขาได้ก็ตาม)

การปฏิเสธเด็ก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องหัดพูดให้เป็น เพราะคุณต้องสอน ให้เขาเข้าใจว่า ในชีวิตจริง เมื่อเขาโตขึ้น เขาอาจจะไม่ได้ในทุกสิ่งที่เขาต้องการความเข้าใจเรื่องนี้ มีคุณค่าอย่างยิ่งกับเด็กๆ เพราะถ้าเขาเรียนรู้ตั้งแต่เด็กแล้ว เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะมีความเข้าใจชีวิตที่ถูกต้อง เพราะในชีวิตจริง เราจะพบว่า บ่อยครั้งเราจะไม่ได้ในสิ่งที่เราหวัง และหากพ่อแม่ได้ฝึกลูกตั้งแต่เขายังเด็กอยู่ เขาจะสามารถ " รับมือ " กับความผิดหวังในชีวิตได้ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่คอยปรนเปรอทุกอย่างตามที่เด็กปรารถนา เด็กประเภทหลังนี้จะไม่ " แกร่ง " พอที่จะทนกับความไม่สมหวังของชีวิตได้ และจะกลายเป็นเด็กที่เปราะบาง เข้าใจชีวิตไม่ถูกต้อง เรียกร้องแต่จะ " เอา " จากผู้อื่นนอกจากนี้ ในช่วงระยะ 3-6 ขวบ เด็กๆ โตพอที่เราจะสอนในเรื่องของการ "ให้" ได้บ้างแล้ว เช่นในขณะที่เราหยุดรถอยู่ที่ไฟแดง บางทีจะมีเด็กเล็กๆมาเกาะหน้าต่าง ขอเศษเงิน บางคนก็จะพยายามมาเช็ดกระจกหรือขายพวงมาลัย คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะถือโอกาสสอนให้ลูกรู้ว่า จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีโอกาสไปโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ ไปเที่ยว มีคอมพิวเตอร์เกมเล่นที่บ้าน มีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ หรือมีรถรับส่ง เด็กอีกหลายคนต้องทำงานหาเงินตั้งแต่พวกเขายังเล็กๆ ดังนั้นการที่ลูกมีกินมีใช้ ก็อย่าลืมนึกถึงแบ่งปันให้แก่คนอื่นที่ด้อยโอกาสบ้างและเมื่อถึงวาระสำคัญ เช่น วันเกิดของเขา คุณก็อาจจะพาเขาไปทำบุญวันเกิด โดยเลี้ยงอาหารแก่เด็กกำพร้า เป็นต้น การกระทำเช่นนี้ จะทำให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน รู้จักการเป็นผู้ให้ ไม่ใช่เป็นแต่จะเรียกร้องให้พ่อแม่มาสนองความต้องการของเขาเท่านั้น

เมื่อลูกโตขึ้นอีกหน่อยสัก 7-10 ขวบ พัฒนาการของเด็ก 7 ขวบส่วนใหญ่ จะเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ที่จะมองและเข้าใจในเรื่องของเหตุและผลว่า ถ้าเขาทำอะไรลงไปผลจะเป็นอย่างไร การเรียนรู้ดังกล่าว จะทำให้เด็กเริ่มหัดที่จะตัดสินใจหลายๆ สิ่งได้ เช่น ถ้าเขาไม่ยอมกินข้าวเขาจะหิว หรือถ้าเขาแกล้งน้องเขาจะถูกลงโทษ เป็นต้น เด็กๆ จึงสามารถที่จะตัดสินใจหลายอย่าง ก่อนที่เขาจะลงมือกระทำอะไรลงไป นักจิตวิทยาจึงเชื่อว่า ในระยะอายุดังกล่าว พ่อแม่ควรหัดให้เด็กรู้จักบริหารเงินของเขาเอง เช่น อาจจะทดลองให้เงินเขาเป็นอาทิตย์ จะอาทิตย์ละเท่าไรนั้น เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องคิดคำนวณตามสถานการณ์จริง หากเขารู้ว่าในแต่ละอาทิตย์เขาจะได้เท่าไร เขาก็จะค่อยๆ เรียนรู้ว่า เขาควรจะใช้ไปวันละเท่าใด ถึงจะเพียงพอก่อนจะได้เงินงวดใหม่การให้เงินเด็กเป็นรายอาทิตย์ หรือรายสามวัน จะช่วยทำให้เด็กรู้สึกว่า เขามีเงินเป็นจำนวนตายตัวที่จะต้องใช้ให้พอภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ หากเขาจะนำไปใช้หมดภายในวันสองวัน เขาอาจจะต้องอดขนมไปอีกหลายวัน การมีเงินที่จำกัด จะช่วยฝึกให้เด็กเริ่มรู้ว่า เขาควรใช้อย่างไร อะไรสำคัญก่อนหลัง ไม่ใช่เห็นอะไรถูกใจก็จะซื้อจนหมดภายในวันเดียว ซึ่งถ้าเขาทำเช่นนั้น หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือ จะต้องใจแข็งและไม่ให้เขาเบิกก่อนเวลาที่กำหนดไว้ ข้อสำคัญ คุณต้องหยุดความเคยชินที่จะให้เมื่อเขาขอ เพื่อฝึกลูกให้รู้จักการใช้เงินอย่างถูกทาง คุณต้องไม่ทำตัวเป็น ATM เคลื่อนที่ให้เขาในกรณีอันไม่เหมาะไม่ควรเป็นอันขาดในกรณีที่เงินจำนวนที่คุณให้ไม่พอใช้ในสภาวะปัจจุบัน คุณก็อาจจะกำหนดอัตราขึ้นใหม่ และตกลงกับเขาว่า การปรับของคุณจะเริ่มต้นเมื่อไร แต่ไม่ใช่ปรับกันทุกครั้งที่เขาขอ คุณต้องเห็นควรด้วยว่า การปรับแต่ละครั้งนั้นสมเหตุสมผล

คุณแม่บางคนอาจมีคำถามว่า เราควรให้อะไรแก่ลูกเป็นรางวัลหรือผลตอบแทนเมื่อเขาทำงานบางอย่างหรือไม่?เรื่องนี้นักจิตวิทยายังมีความเห็นขัดแย้งกัน บางท่านเห็นว่า การที่เด็กช่วยงานบ้านหรือการที่เขาเรียนดี ถ้าพ่อแม่จะมี "รางวัล" ให้เขาบ้าง ก็จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เข้าใจว่า ผลงานที่ดีย่อมได้ผลตอบแทนที่ดี แต่บางท่านก็เห็นว่า การที่เด็กต้องทำกิจวัตรประจำวันของเขา เช่น การกิน การนอน การเรียน ฯลฯ ไม่จำเป็นที่พ่อแม่จะต้องไปให้เงิน หรือค่าจ้างตอบแทน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่เด็กจะต้องทำอยู่แล้ว หากพ่อแม่อยากจะให้ค่าขนมพิเศษกับลูก ก็อาจจะให้กับงานบางชิ้นที่เขาจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่การแปรงฟัน การกินข้าว หรือเข้านอนของเด็ก นักจิตวิทยาหลายคนคิดว่า แทนการให้เป็น "เงิน" พ่อแม่อาจจะให้เป็น "แต้มสะสม" เช่น อาจมีการกำหนดไว้ว่าทำความสะอาดห้องเอง ได้ 30 แต้ม ช่วยเก็บกรวดเศษใบไม้ในบริเวณบ้าน ได้ 50 แต้ม เก็บเตียงนอนของตัวเองทุกครั้ง ได้ 25 แต้ม ฯลฯ ทุกครั้งที่เด็ก " ทำงาน " ดังกล่าว เขาจะได้แต้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถ้าได้รวมกันทุก 500 แต้ม คุณแม่จะให้รางวัล ซึ่งอาจจะเป็นเงิน 100 บาท หรือสิทธิพิเศษตามที่ได้ตกลงกันไว้ ลักษณะของการ "ทำงาน" เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือสิทธิพิเศษ จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่า เขาจะต้องทำงานบางอย่างเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่เขาต้องการ และเขาจะรู้สึกถึงคุณค่าของเงินที่เขาได้รับ

เมื่อใดก็ตาม ที่คุณพ่อคุณแม่ให้เงินตอบแทนการทำงานของเด็ก ก็อาจจะถือโอกาสแนะนำให้ลูกรู้จักสะสม เช่น สอนให้เขารู้ว่า หากเขาได้เงินมาสัก 100 บาท ก็ควรจะสะสมไว้สัก 60% หรือ 70% ส่วนการใช้เงินที่เหลือนั้น เขามีสิทธิเต็มที่ที่จะใช้ไปอย่างไรก็ได้ โดยที่พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปออกความเห็นทีนี้พอมาถึงวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี หากลูกมาขอซื้อกางเกงยีนราคา 3,000 บาท และคุณเห็นว่า อยากซื้อให้ เพราะเขาแทบจะไม่เคยมาขออะไรที่มากมายกับคุณบ่อยๆ เลย คุณก็อาจจะซื้อให้เขาได้ แต่ถ้าคุณรู้ว่าเขามี "นิสัย" ที่ชอบซื้อของแพงโดยไม่สมเหตุสมผล คุณจะต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธลูกให้เป็น พร้อมกับบอกเหตุผล โดยไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงกับเขาแต่โดยทั่วๆ ไป พ่อแม่มักจะให้เงินเดือนลูกวัยรุ่นกันอยู่แล้ว ถ้าลูกอยากได้จริงๆ เขาควรจะหัดเก็บเงินประจำของเขา และซื้อเอง แต่ถ้าพ่อแม่อยากจะให้เขาบ้าง ก็อาจเสนอว่า คุณจะช่วยจ่ายให้เขาครึ่งราคา ส่วนอีกครึ่งให้เขานำเงินที่เขาเก็บมาใช้ หากพ่อแม่ทำให้การขอของลูกเป็นสิ่งที่ "ยากขึ้น" เขาจะเกิดความรู้สึกภูมิใจ (self-esteem) ขึ้นในตัวเอง การควักเงินให้ลูกซื้อของราคาแพงๆ โดยไม่ให้เขาใช้ความพยายามอะไรเลย นอกจากจะทำให้เขาไม่รู้คุณค่าของที่ได้มาแล้ว เขายังไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเองอีกด้วยเป็นไงคะ อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่คงคิดตกแล้วนะคะว่า นาฬิกาเรือนหมื่น หรือกระเป๋าสะพายใบละหลายพันบาทที่ลูกมาขอให้ซื้อให้เมื่อเร็วๆ นี้ คุณควรจะซื้อให้เขาหรือไม่ แล้วคุณจะรับมือกับลูกอย่างไร

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต