เมื่อร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อขึ้นมา โดยเฉพาะบริเวณข้อไหล่และข้อเข่าอย่าได้ชะล่าใจ ควรสังเกตและหา สาเหตุของความปวดให้ได้เพื่อที่จะรับมือในด้านการฟื้นฟูความ ปวดได้อย่างถูกต้อง และไม่ต้องทนทุกข์จากอาการดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน
อาการปวดที่ข้อไหล่ อาการปวดที่ข้อไหล่ส่วนใหญ่เกิดจากอาการอักเสบที่กล้ามเนื้อและเอ็นที่หุ้ม อยู่รอบๆ ข้อหัวไหล่ สาเหตุของการปวดข้อหัวไหล่มีหลายประการด้วยกันคือ
1. ใช้ข้อไหล่ในชีวิตประจำวันอย่างผิดๆ เช่น การแบกของหนักเกินไปไว้บนบ่า หรือเอื้อมมือหยิบของบนที่สูง
2. พบอาการบาดเจ็บที่ข้อไหล่ในนักกีฬาได้ด้วย เช่น นักกีฬาขว้างจักร ขว้างลูกบอล
3. พบได้บ่อยในบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์
อาการที่เกิด ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดไหล่ขณะใช้แขน เช่น เวลากางแขนออกด้านข้างจะมีอาการปวดรอบๆ หัวไหล่ แต่บางครั้งก็ไม่ปวดแต่จะมีอาการที่ข้อไหล่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งการหาสาเหตุว่าเป็นการปวดข้อไหล่แบบไหนนั้น ควรจะให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและทำการรักษาจะดีที่สุด ส่วนใหญ่หลักการรักษาที่รวดเร็วที่สุดควรจะรักษาเมื่อมีอาการใหม่ๆ ก่อนที่ข้อหัวไหล่จะติดแข็งจนไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
วิธีการรักษามีหลายวิธีด้วยกัน คือ
1. ใช้ยา เช่น ยาระงับปวด ยาแก้อักเสบ ใช้ยาสเตียรอยด์ฉีด
2. การรักษาทางกายภาพ ใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ หรือความร้อนนวด เป็นต้น ส่วนที่ผู้ป่วยสามารถดูแลและทำได้เองที่บ้านนั้นคือ ใช้หัวไหล่ในชีวิตประจำวันได้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการหิ้วของที่หนักเกินไปหรือแบกของหนักไว้บนบ่า
3. การออกกำลังกายบริหารหัวไหล่เพื่อรักษาอาการปวดสามารถทำได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- ท่าเหวี่ยงลูกตุ้ม ใช้กรณีที่เพิ่งหายจากข้อไหล่อักเสบใหม่ๆ ยืนข้างโต๊ะ โน้มตัวลง ให้ทิ้งน้ำหนักแขนข้างที่เจ็บแล้วหมุนแขนเป็นวงกลม เมื่ออาการปวดดีขึ้นมากอาจถือลูกตุ้มเพื่อเพิ่มน้ำหนักแล้วแกว่งแขนเป็นวง กลมช้าๆ เช่นเดิม ท่านี้จะทำให้หัวไหล่เคลื่อนไหวได้มากขึ้น ทำท่านี้วันละ 20 ครั้ง
- ท่าไต่ผนัง ยืนกางขาเล็กน้อยหันหน้าเข้ากำแพง ปลายเท้าห่าง 1 ฟุต ยกแขนข้างที่ปวดไปด้านหน้าเพื่อไต่กำแพงขึ้นไปจนสุด จากนั้นให้ค่อยๆ ขยับเข้าไปชิดกำแพง เพื่อให้แขนสูงขึ้นค่อยๆ ขยับจนปลายเท้าชิดกำแพง ทำท่านี้วันละ 20 ครั้ง
- ท่าไต่ผนังแบบที่ 2 ยืนหันข้างหัวไหล่ข้างที่ปวดเข้ากำแพง ห่างประมาณ 1 ฟุต กางแขนขึ้นไต่กำแพงจนสุด ค่อยๆ ขยับจนเท้าชิดกำแพง ค้างไว้นับ 1-10 ทำวันละ 20 ครั้งเช่นเดียวกัน
- ท่าดึงผ้าขนหนูเช็ดหลัง ให้ยืนกางขาเล็กน้อย มือ 2 ข้างจับผ้าขนหนูทางด้านหลังคล้ายๆ กำลังเช็ดตัว โดยให้มือข้างที่เจ็บจับผ้าขนหนูด้านล่าง มือข้างที่ไม่เจ็บจับผ้าขนหนูอยู่ด้านบน มือบนดึงผ้าขนหนูมือล่างดึงตามเมื่อรู้สึกว่าไหล่ให้ตึงให้ค้างไว้ ทำวันละ 20 ครั้งเช่นเดียวกัน
ที่มา : สนับสนุนข้อมูลโดย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล