อาการคนท้อง สัญญาณสำคัญที่ควรรู้

ผู้หญิงแต่ละคนอาจมีอาการคนท้องแตกต่างกันออกไป แต่สัญญาณไหนเป็นอาการสำคัญแรกเริ่มที่ผู้หญิงควรรู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเป็นคุณแม่มือใหม่

ผู้หญิงแต่ละคนอาจมีอาการคนท้องแตกต่างกันออกไป แต่สัญญาณไหนเป็นอาการสำคัญแรกเริ่มที่ผู้หญิงควรรู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเป็นคุณแม่มือใหม่ ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะคาดเดาได้หลังจากประจำเดือนขาดไป รวมถึงการสังเกตอาการเหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นตามมา

สัญญาณเบื้องต้นของว่าที่คุณแม่

  • มีความรู้สึกไวต่อกลิ่นต่าง ๆ - หญิงที่เพิ่งตั้งครรภ์จะมีความไวต่อการรับกลิ่น โดยเฉพาะกลิ่นของอาหาร ซึ่งคาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียนได้ง่ายเมื่อได้กลิ่นต่าง ๆ มากระตุ้น
  • คลื่นไส้ - เป็นอาการที่พบได้บ่อย บางครั้งอาจรู้สึกอยากอาเจียนร่วมด้วย แต่ในบางรายก็อาจไม่พบอาการนี้ในช่วงแรกจนกระทั่งเข้าสู่การตั้งครรภ์ในเดือนแรกหรือเดือนที่ 2 บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ได้ตั้งแต่ช่วง 2-3 สัปดาห์แรก อาการคลื่นไส้นี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดวัน
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ - การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ช่วงแรกอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยขึ้นได้คล้าย ๆ กับช่วงก่อนประจำเดือนมา ช่วงนี้บางคนอาจรู้สึกเสื้อผ้าแน่นมากขึ้น
  • เจ็บหน้าอก - ผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์อาจมีอาการเจ็บหน้าอก หน้าอกมีการขยายขึ้นคล้ายกับในช่วงประจำเดือนมา เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์
  • ปัสสาวะบ่อย - การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย ทำให้อัตราการไหลของเลือดเพิ่มขึ้นและไหลผ่านไปยังไตมากขึ้นเช่นกัน กระเพาะปัสสาวะจึงรับน้ำมามากตามไปด้วย ผู้หญิงตั้งครรภ์จึงรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ สาเหตุนี้จะต่างกับการปัสสาวะบ่อยในระยะหลังซึ่งมาจากขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นแล้วไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  • เพลียและเหนื่อยง่าย - สาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หมดเรี่ยวแรงน่าจะมาจากระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนอนมีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงเกิดอาการแพ้ท้อง พักผ่อนน้อย ลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อย คนตั้งครรภ์จึงอ่อนเพลียได้ง่าย
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย - ในช่วงการตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่มีผลต่อสารสื่อประสาทในสมองต่อการกระตุ้นจากสิ่งต่าง ๆ จึงทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย เช่น อารมณ์ดี เสียใจ หดหู่ กังวล ซึ่งการแสดงออกทางอารมณ์ในแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป บางคนก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ในขณะที่บางคนที่เคยมีประสบการณ์การตั้งครรภ์อาจรับมือกับปัญหานี้ได้ดีกว่า

สัญญาณหรืออาการเบื้องต้นอาจเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่าเกิดการตั้งครรภ์หรือไม่ บางอาการอาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิด เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนหัว หรือผู้ที่มีรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอก็อาจพาลเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ได้ จึงควรหมั่นสังเกตรอบเดือนของตนเองและการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอยู่เสมอ

เมื่อมั่นใจว่าประจำเดือนขาดและพบสัญญาณอาการเหล่านี้ ควรใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์เพื่อทดสอบการตั้งครรภ์เพื่อเป็นการตรวจด้วยตนเองก่อนไปพบแพทย์ เมื่อทดสอบแล้วผลออกมาเป็นบวกอาจหมายถึง น่าจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น จึงควรไปแพทย์เพื่อตรวจให้มั่นใจอีกครั้งและฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ 

โดยทั่วไปอาการของคนตั้งครรภ์ในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป บางรายอาจมีอาการมากน้อยไม่เท่ากันหรือบางคนแทบไม่มีอาการมากนัก หากแบ่งตามไตรมาสก็ยังจะพบอาการที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถมีอาการเพิ่มเติมจากระยะเริ่มต้นดังนี้

ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (เดือนที่ 1-3)

ช่วงนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนในร่างกายอย่างเห็นได้ชัด มดลูกจะเริ่มมีการขยายตัวในการสร้างรกและรองรับทารกที่จะมาฝังตัว ร่างกายจะมีการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่าปกติ และหลอดเลือดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงทารก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ว่าที่คุณแม่มีอาการที่อาจพบได้บ่อยคือ

  • เลือดออก - ผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ประมาณ 25% อาจพบอาการเลือดออกเล็กน้อยจากช่องคลอดในช่วงไตรมาสแรก เนื่องมาจากการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก แต่ปริมาณเลือดจะน้อยกว่าประจำเดือนปกติมาก หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า เลือดล้างหน้าเด็ก แต่หากมีเลือดออกมากผิดปกติ ตะคริว ปวดหรือเจ็บแปลบบริเวณท้องน้อยควรพบแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้งหรือการท้องนอกมดลูก
  • ท้องผูก - ผู้หญิงจะมีระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่สูงขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ที่ช่วยในการเคลื่อนตัวของอาหารไปยังลำไส้เล็กทำงานได้ช้าลง อาหารจึงตกค้างในลำไส้นาน มีลักษณะแห้ง ถ่ายออกได้ยาก
  • ตกขาวมามาก - คนตั้งครรภ์มักจะมีตกขาวมากขึ้นกว่าในช่วงปกติจากฮอร์โมนเพศหญิงที่มีสูงในขณะตั้งครรภ์ จึงควรมีการรักษาความสะอาดและเลือกใส่กางเกงชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อป้องกันการเกิดแบคทีเรียบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งตกขาวปกติจะมีลักษณะเป็นเมือกใสหรือขาวขุ่น ไม่มีกลิ่น ในกรณีที่ตกขาวมีสีเปลี่ยนไป มีกลิ่นเหม็นบูดควรพบแพทย์   
  • แพ้ท้อง - คลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการที่คนตั้งครรภ์พบได้มากถึง 85% อาการแพ้ท้องจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน บางคนอาจเป็นมากน้อยไม่เท่ากัน หรือไม่แพ้เลย
  • น้ำหนักขึ้น - ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน
  • อาการแสบร้อนทรวงอก - ร่างกายมีระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่สูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหลอดอาหารคลายตัว ส่งผลให้ปิดกั้นอาหารหรือกรดไม่สนิท จึงอาจเกิดไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก

ไตรมาส 2 ของการตั้งครรภ์ (เดือนที่ 4-6)

เมื่อเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่สอง ทารกในครรภ์จะเริ่มเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถอัลตราซาวด์เพื่อดูพัฒนาการและเพศของทารกได้ อาการต่าง ๆ ที่เป็นมากในไตรมาสแรกจะค่อย ๆ ลดลง คุณแม่จะรู้สึกสบายตัวมากขึ้น มีเรี่ยวแรงและพลังงานมากขึ้น แต่ยังอาจพบอาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอื่น ๆ ได้

  • ปวดหลัง - น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงแรกจะเริ่มส่งผลต่อร่างกาย โดยจะไปเพิ่มแรงกดลงบนหลัง ทำให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บหลังมากขึ้น คุณแม่ควรระมัดระวังในการเคลื่อนไหวหรือยกสิ่งของหนักที่จะยิ่งเพิ่มอาการปวดหลังมากขึ้น
  • หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น - หลังจาก 3 เดือนแรกที่คุณแม่อาจมีอาการคัดตึงเต้านม เต้านมจะเริ่มมีการขยายใหญ่มากขึ้น เพื่อช่วยรองรับการให้นมแก่ทารก คุณแม่จึงควรมีการปรับเปลี่ยนขนาดของชุดชั้นในที่เหมาะสมกับสัดส่วนของตนเอง
  • มีเลือดออกตามไรฟัน - คุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่าครึ่งอาจพบอาการเลือดออกตามไรฟันขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกายจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณเหงือกมากกว่าปกติ ทำให้เหงือกสามารถบวมและเลือดออกได้
  • เลือดกำเดาไหล - เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อเยื่อบุโพรงจมูกบวมมากขึ้น เพราะมีการขยายตัวของหลอดเลือดและเส้นเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น การกระทบกระเทือนเล็กน้อยอย่างการจามอาจทำให้เกิดอาการเลือดกำเดาไหลได้ง่ายขึ้นกว่าปกติ
  • ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลง - ผิวหนังตามร่างกายเกิดการขยายตัว โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ลานนม แขนขา จนอาจทำให้เกิดผิวลายได้ รวมไปถึงมีการผลิตเม็ดสีที่มากขึ้น ทำให้ส่วนต่าง ๆ เกิดสีผิวเข้มขึ้นได้ เช่น ใบหน้าเกิดฝ้า หน้าท้องมีเส้นคล้ำ ลานนมและหัวนมมีสีคล้ำขึ้น
  • ลูกดิ้น - ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 16-18 คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกได้ว่าทารกในครรภ์เริ่มมีเคลื่อนไหวหรือลูกดิ้น มีการกระตุกหรือเกร็งเล็กน้อยบริเวณท้อง

ไตรมาส 3 ของการตั้งครรภ์ (เดือนที่ 7-9)

ในช่วงไตรมาสที่ 3 จะเริ่มจากสัปดาห์ที่ 28 เป็นต้นไปจนถึงช่วงที่ทารกคลอด คุณแม่จำเป็นต้องมีการพบแพทย์ที่ฝากครรภ์บ่อยขึ้น เป็นช่วงใกล้คลอดที่สำคัญ และยังอาจพบอาการอื่น ๆ ในช่วงนี้ได้เช่นกัน

  • อาการเจ็บท้องหลอก - เป็นอาการเจ็บท้องจากการหดรัดตัวของมดลูกสำหรับคนตั้งครรภ์เพื่อเตรียมตัวสำหรับการคลอด ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า Braxton-Hicks Contraction ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับการเจ็บครรภ์จะคลอดจริง ๆ แต่จะเจ็บน้อยกว่า ไม่รุนแรง
  • ริดสีดวงทวาร - ในขณะตั้งครรภ์เส้นเลือดจะมีการขยายตัวเพื่อนำเลือดไปเลี้ยงทารกได้มากขึ้นและน้ำหนักตัวคุณแม่ที่เพิ่มแรงดันในร่างกายมากขึ้น จึงทำให้เส้นบริเวณทวารหนักเกิดการขยาย บวม หรือเกิดเส้นเลือดขอดจนกลายเป็นริดสีดวงทวาร
  • หายใจสั้น - เมื่อมดลูกเกิดการขยายตัว ดันอวัยวะด้านบนให้ขยับขึ้นไป ทำให้ปอดเหลือที่น้อยลง ไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ ทำให้เกิดการหายใจได้ลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจสั้น
  • อาการตัวบวม - ตามร่างกายเกิดอาการบวม เนื่องจากมีปริมาณน้ำสะสมตามเนื้อเยื่อมากกว่าปกติ

 ที่มา pobpad ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต