กระแจะ สรรพคุณและประโยชน์

ต้นกระแจะ หรือ ต้นทานาคา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น โดยกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะเกลี้ยง ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาว เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล

กระแจะ สรรพคุณและประโยชน์

กระแจะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hesperethusa crenulata (Roxb.) M. Roem. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Limonia crenulata Roxb., Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson) จัดอยูในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)

สมุนไพรกระแจะ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระแจะจัน ขะแจะ (ภาคเหนือ), ตุมตัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1], บ้างก็ว่าภาคกลาง[2]), พญายา (ราชบุรี, ภาคกลาง), ตะนาว (มอญ), พินิยา (เขมร), กระแจะสัน, ตูมตัง, จุมจัง, จุมจาง, ชะแจะ, พุดไทร, ฮางแกง, ทานาคา เป็นต้น

ลักษณะของกระแจะ

ต้นกระแจะ หรือ ต้นทานาคา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น โดยกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะเกลี้ยง ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาว เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระ ลำต้นและกิ่งมีหนาม หนามมีลักษณะแข็งและยาว โดยหนามจะออกแบบเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่ ๆ และยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร เนื้อไม้เมื่อตัดมาใหม่ ๆ จะเป็นสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน หากทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนสีเหลืองอ่อน ต้นกระแจะสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป รวมไปถึงป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือการปักชำด้วยกิ่งอ่อนหรือราก โดยมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศพม่า ปากีสถาน ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ มณฑลยูนนานของจีน และในภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยนั้นเขตการกระจายพันธุ์คือทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้

ใบกระแจะ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 4-13 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ โคนและปลายใบมีลักษณะสอบแคบ ส่วนขอบใบเป็นซี่ฟันเลื่อยแบบตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ก้านใบแผ่เป็นปีก มีลักษณะเป็นครีบออกทั้งสองข้างและเป็นช่วง ๆ ระหว่างคู่ของใบย่อย เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ผิวเนียน เกลี้ยง เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใส ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ส่วนเส้นแขนงของใบมีอยู่ประมาณข้างละ 3-5 เส้น และก้านช่อใบยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยไม่มี

ดอกกระแจะ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ รวมกันเป็นกระจุกตามซอกใบหรอตามกิ่งเล็ก ๆ ดอกมีขนสั้นนุ่มและเป็นสีขาวหรือสีขาวอมสีเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ ดอกเมื่อบานแล้วจะแผ่ออกหรือลู่ไปทางส่วนของก้านเล็กน้อย กลีบดอกเกลี้ยง มีต่อมน้ำมันอยู่ประปราย ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่แกมรูปรี มีความกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตรและความยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 8 ก้าน มีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ยาวเกือบเท่ากันหรือสลับกันระหว่างสั้นกับยาว เกลี้ยง ส่วนก้านชูอับเรณูมีลักษณะเป็นรูปลิ่มแคบ อับเรณูเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ที่ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นถึงติ่งแหลมอ่อน และรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ เกือบกลม ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เกลี้ยงและมีต่อมน้ำมัน โดยจะมีอยู่ 4 ช่อง ซึ่งในแต่ละช่องจะมีออวุลอยู่ 1 เมล็ด ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันอยู่ใต้ยอดเกสรตัวเมีย โดยยอดเกสรตัวเมียส่วนปลายจะแยกเป็นแฉก 5 แฉก จานฐานดอกเกลี้ยง มีก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร และก้านดอกยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร มีลักษณะเกลี้ยงหรือมีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีอยู่ 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม มีความกว้างและความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนละเอียดและมีต่อมน้ำมัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือน

ผลกระแจะ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ ในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมสีส้มอ่อน ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมและมีความกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนก้านยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม

ภาพจาก th.wikipedia.org

สรรพคุณและประโยชน์ของกระแจะ

  1. ผลมีรสขมและเฝื่อน ใช้เป็นยาบำรุงกำลังและเป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล, ผลสุก)
  2. ช่วยบำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น (เปลือกต้น)
  3. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผลสุก,เปลือกต้น,แก่น)
  4. ช่วยแก้อาการผอมแห้ง (แก่น,ผล,ราก)
  5. แก่นมีรสจืดและเย็น นำมาดองกับเหล้าใช้กินเป็นยาแก้กษัยได้ (อาการป่วยที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม และโลหิตจาง) (แก่น,ผล, ราก)
  6. แก่นใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาบำรุงโลหิต แก้โลหิตพิการ โรคเลือด (แก่น)
  7. ใบกระแจะมีรสขมและเฝื่อน ใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นต้มกินแก้ลมบ้าหมู แต่อีกตำราไม่ได้ระบุว่าต้องใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดใด(ใบ,ผล,ราก)
  8. ช่วยแก้พิษ (ผล)
  9. ช่วยแก้ไข้ ถอนพิษไข้ (ผล, ผลสุก, เปลือกต้น, แก่น, ราก)
  10. ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา (ต้น)
  11. ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ด้วยการใช้แก่นนำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยา (แก่น, เปลือกต้น)
  12. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)
  13. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล)
  14. ช่วยขับผายลม (เปลือกต้น)
  15. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย (ผล)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : bga