จุกโรหินี สรรพคุณและประโยชน์

ต้นจุกโรหินี จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเลื้อยทอดไปตามต้นไม้ เถากลมสีเขียว ตามข้อเถามีรากงอกออก มีไว้สำหรับใช้ยึดเกาะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถพบได้ตามป่าดงดิบทั่วไป ป่าชายเลน ป่าแพะ และป่าเบญจพรรณ,

จุกโรหินี สรรพคุณและประโยชน์

จุกโรหินี ชื่อวิทยาศาสตร์ Dischidia major (Vahl) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia rafflesiana Wall.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)

สมุนไพรจุกโรหินี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวฟ่าง (คนเมือง), บวบลม (นครราชสีมา, อุบลราชธานี), พุงปลา (จันทบุรี, ตราด), กล้วยมุสัง (พังงา), จุรูหินี (ชุมพร), กล้วยไม้ (ภาคเหนือ), โกฐพุงปลา จุกโรหินี พุงปลาช่อน (ภาคกลาง), เถาพุงปลา (ระยอง, ภาคตะวันออก), โกฎฐ์พุงปลา (ไทย), นมตำไร (เขมร) เป็นต้น

ลักษณะของจุกโรหินี

ต้นจุกโรหินี จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเลื้อยทอดไปตามต้นไม้ เถากลมสีเขียว ตามข้อเถามีรากงอกออก มีไว้สำหรับใช้ยึดเกาะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถพบได้ตามป่าดงดิบทั่วไป ป่าชายเลน ป่าแพะ และป่าเบญจพรรณ,

ใบจุกโรหินี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ หรือออกเป็นใบเดี่ยว ใบมี 2 แบบ ลักษณะแตกต่างกันมาก ซึ่งจะอยู่บนต้นเดียวกัน คือ แบบแรกมีลักษณะรูปร่างคล้ายถุงปากแคบ แบนเป็นเหลี่ยม ๆ ผิวด้านนอกเกลี้ยงเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ส่วนด้านในเป็นสีม่วง มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ส่วนแบบที่สองเป็นแบบใบธรรมดา ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลม ปลายใบมน มีติ่งแหลมสั้น ๆ เนื้อใบหนาและอวบน้ำ ใบมีขนาดยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

ดอกจุกโรหินี ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ขนาดเล็ก ช่อละประมาณ 6-8 ดอก โดยจะออกตามง่ามใบตรงข้ามกับใบ ดอกเป็นดอกขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ และป่องเบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง ส่วนตรงปลายเป็นรูปกรวย ที่ปลายปากดอกแต้มไปด้วยสีม่วงและมีขนอยู่ด้านนอก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกหรือกลีบรองดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ตามขอบกลีบดอกจะมีขน กลีบดอกกลมและยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร โคนดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อย

ผลจุกโรหินี ออกผลเป็นฝัก ฝักเป็นสีเหลืองแกมสีส้ม ผิวของฝักมีลักษณะขรุขระ ฝักมีความยาวประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร

สรรพคุณและประโยชน์ของจุกโรหินี

  1. ผลนำมาต้มกับน้ำดื่ม จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ผล)
  2. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงกำลัง (ราก)
  3. รากใช้เป็นยาแก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ (ราก)
  4. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ราก)
  5. รากจุกโรหินีนำมาเคี้ยวกับพลูจะช่วยแก้อาการไอ (ราก)
  6. ช่วยแก้หอบหืด (ราก)
  7. ช่วยแก้อาการอาเจียน (ใบ, ราก)
  8. ช่วยแก้เสมหะผิดปกติ เสมหะพิการ (ใบ, ราก)
  9. ผลนำมาดึงไส้ออก ใส่น้ำ นำไปเผาไฟให้อุ่น ใช้เป็นยาหยอดหู หรือจะนำผลมาเผาไฟเอาน้ำใช้หยอดหูน้ำหนวก (ผล)
  10. ผลนำมาผสมกับมดแดงฮ้าง ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ลมพันไส้ (ผล)
  11. เถานำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ (เถา)
  12. ผลนำมาผสมกับฝอยลม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร หรือจะนำผลมาเผาไฟเอาน้ำ ใช้ขับลม (ผล)
  13. ทั้งต้นมีรสฝาดและสุขุม ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องอันเนื่องมาจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (ทั้งต้น
  14. ใบหรือรากใช้เป็นยาแก้อาการท้องเดิน ท้องร่วง ท้องเสีย (ใบ, ราก)
  15. ช่วยแก้บิด แก้ปวดเบ่ง มูกเลือด (ใบ, ราก)
  16. ทั้งต้นใช้เข้ายาแก้โรคตับพิการ (ทั้งต้น)
  17. ใบที่เปลี่ยนรูป เอาข้าวมายัดใส่แล้วนำไปเผาไฟจนข้าวสุก แล้วข้าวจะกลายเป็นสีม่วง นำมารับประทานเพื่อช่วยป้องกันอาการเจ็บม้ามในขณะออกกำลังกายได้ (ใบ)
  18. ใบมีรสฝาด ใช้ภายนอกเป็นยาฝาดสมาน สมานแผล หรือจะใช้รากปรุงเป็นยาฝาดสมาน หรือใช้ภายนอกนำมาทาแผลเพื่อเป็นยาสมานแผลก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : monpaiasia