ราชพฤกษ์ สรรพคุณและประโยชน์

ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน) เป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียใต้ ไล่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถานไปจนถึงอินเดีย พม่า และประเทศศรีลังกา โดยจัดเป็นพรรณไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยง มักขึ้นทั่วไปตามป่าผลัดใบหรือในดินที่มีการถ่ายเทน้ำดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแล้วย้ายกล้ามาปลูกในถุงเพาะชำ

ราชพฤกษ์ สรรพคุณและประโยชน์

ราชพฤกษ์ ชื่อสามัญ Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Purging Cassia

ราชพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

สมุนไพรราชพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปูโย ปีอยู เปอโซ แมะหล่าอยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลักเกลือ ลักเคย (กะเหรี่ยง), ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง), ลมแล้ง (ภาคเหนือ), ราชพฤกษ์ (ภาคใต้), คูน (ทั่วไปเรียกและมักจะเขียนผิดหรือสะกดผิดเป็น “ต้นคูณ” หรือ “คูณ“) เป็นต้น

คำว่า “ราชพฤกษ์” มีความหมายว่า “ต้นไม้ของพระราชา” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานมหกรรมพืชสวนโลกซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี

ลักษณะของต้นราชพฤกษ์

ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน) เป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียใต้ ไล่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถานไปจนถึงอินเดีย พม่า และประเทศศรีลังกา โดยจัดเป็นพรรณไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยง มักขึ้นทั่วไปตามป่าผลัดใบหรือในดินที่มีการถ่ายเทน้ำดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแล้วย้ายกล้ามาปลูกในถุงเพาะชำ เมื่อโตพอแล้วก็ย้ายมาปลูกในพื้นที่ แต่ในปัจจุบันอาจจะใช้วิธีการทาบกิ่งและเสียบยอดก็ได้ แต่โอกาสสำเร็จจะน้อยกว่าวิธีการเพาะเมล็ด

ใบราชพฤกษ์ (ใบคูน) ลักษณะของใบออกเป็นช่อ ใบสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และมีใบย่อยเป็นไข่หรือรูปป้อม ๆ ประมาณ 3-6 คู่ ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร โคนใบมนและสอบไปทางปลายใบ เนื้อใบบางเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบถี่และโค้งไปตาม

ดอกราชพฤกษ์ (ดอกคูน) ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย และกลีบดอกยาวกว่ากลีบรองดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่จำนวน 5 กลีบ บริเวณพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน ที่ดอกมีเกสรตัวผู้ขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 ก้าน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ดอกมักจะบานในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่ก็มีบางกรณีที่ออกดอกนอกฤดูเหมือนกัน เช่น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

ผลราชพฤกษ์ หรือ ฝักราชพฤกษ์ (ฝักคูณ) ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยง ๆ ฝักยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร และวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ราว 2-2.5 เซนติเมตร ฝักอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนฝักแก่จัดจะมีสีดำ ในฝักจะมีผนังเยื่อบาง ๆ ติดกันอยู่เป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก และในช่องจะมีเมล็ดสีน้ำตาลแบน ๆ อยู่ มีขนาดประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร

ภาพจาก sites.google.com

สรรพคุณและประโยชน์ของราชพฤกษ์

  1. ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (เปลือก)
  2. สารสกัดจากลำต้นและใบของราชพฤกษ์มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ลำต้น, ใบ)
  3. สารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (เมล็ด)
  4. ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือถุงน้ำดี (ราก)
  5. ราชพฤกษ์มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
  6. ฝักราชพฤกษ์มีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ฝัก)
  7. ช่วยแก้ไข้รูมาติกด้วยการใช้ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
  8. ฝักอ่อนมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด สรรพคุณสามารถใช้ขับเสมหะได้ (ฝักอ่อน)
  9. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ฝัก)
  10. เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้ (เมล็ด, ฝัก)
  11. ต้นราชพฤกษ์ สรรพคุณของกระพี้ใช้แก้อาการปวดฟัน (กระพี้)
    ในอินเดียมีการใช้ฝัก เปลือก ราก ดอก และใบมาทำเป็นยา ใช้เป็นยาแก้ไข้และหัวใจ แก้อาการหายใจขัด ช่วยถ่ายของเสียออกจากร่างกาย แก้อาการซึมเศร้า หนักศีรษะ หนักตัว ทำให้ชุ่มชื่นทรวงอก (เปลือก, ราก, ดอก, ใบ, ฝัก)
  12. สรรพคุณราชพฤกษ์ช่วยแก้โรครำมะนาด (กระพี้, แก่น)
  13. ช่วยรักษาเด็กเป็นตานขโมยด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ฝัก)
  14. ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก (เนื้อในฝัก)
  15. ฝักแก่ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวก ไม่มวนท้อง แก้อาการท้องผูก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ และสตรีมีครรภ์ เพราะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinoneglycoside) เป็นตัวช่วยระบาย สำหรับวิธีการใช้ ให้ใช้ฝักแก่ขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ (หนักประมาณ 4 กรัม) และน้ำอีก 1 ถ้วยแก้วใส่หม้อต้ม แล้วผสมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าหรือช่วงก่อนนอนเพียงครั้งเดียว (ฝักแก่, ดอก, เนื้อในฝัก, ราก, เมล็ด)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : thairath