จำปา สรรพคุณและประโยชน์
จำปา ชื่อสามัญ Champaca, Champak, Orange chempaka, Golden champa, Sonchampa
จำปา ชื่อวิทยาศาสตร์ Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Michelia champaca L.) จัดอยู่ในวงศ์จำปา (MAGNOLIACEAE)
สมุนไพรจำปา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จำปาเขา จำปาทอง (นครศรีธรรมราช), จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี), จุมปา จุ๋มป๋า (ภาคเหนือ), จำปากอ (มลายู-ภาคใต้), มณฑาดอย เป็นต้น
ลักษณะของจำปา
ต้นจำปา มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง มีความสูงประมาณ 15-30 เมตร ลักษณะเป็นทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ ค่อนข้างโปร่ง แตกกิ่งจำนวนมากที่ยอด ที่เปลือกมีสีเทาอมขาวและมีกลิ่นฉุน โดยต้นจำปาจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง และการตอนกิ่ง
ใบจำปา ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ใบใหญ่สีเขียวเป็นมัน ลักษณะคล้ายรูปรีแกมขอบขนาน กว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม เนื้อใบบาง ใบอ่อนจะมีขน ส่วนใบแก่จะเกลี้ยง ใบมีเส้นใบประมาณ 16-20 คู่ และก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร โคนก้านใบป่อง
ดอกจำปา ลักษณะเป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองอมแสด ดอกมีกลิ่นหอมแรง ออกดอกตามซอกใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ดอกตั้งขึ้น ดอกตูมเป็นรูปกระสวย มีแผ่นสีเขียวคลุมอยู่และจะหลุดไปเมื่อดอกบาน ที่กลีบดอกและกลีบเลี้ยงจะมีลักษณะเหมือนกัน มีจำนวน 12-15 กลีบ แต่ละกลีบรูปยาวรีแกมรูปหอก กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร ดอกจะเริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมในช่วงพลบค่ำ และในเช้าวันถัดมากลีบดอกก็จะกางออกจากกัน และร่วงหล่นในช่วงเย็น ดอกจำปาสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีมากหน่อยในช่วงต้นฤดูฝน แต่ต้องใช้เวลาปลูกนานกว่า 3 ปีจึงจะออกดอก
ผลจำปา จะออกเป็นกลุ่ม มีความยาวประมาณ 6-9 เซนติเมตร ผลย่อยค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร สามารถติดผลได้ดี มีเมล็ดหลายเมล็ด มีสีดำ เมล็ดค่อนข้างกลม เปลือกหุ้มเมล็ดสีแดงแสด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร
ภาพจาก thaikasetsart.com
สรรพคุณและประโยชน์ของจำปา
- ช่วยบำรุงธาตุ (ดอก, ผล, เมล็ด)
- จำปามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
- ช่วยบำรุงประสาท (ดอก)
- ช่วยกระจายโลหิต (ดอก)
- ดอกจำปามีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต (ดอก, เนื้อไม้)
- ช่วยทำให้เลือดเย็น (ดอก)
- ช่วยแก้โรคเส้นประสาทพิการ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (น้ำมันกลั่นจากดอก)
- ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย (ดอก)
- ช่วยแก้คลื่นเหียน อาเจียน (ดอก, ผล, เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการไข้ (เปลือกต้น, ผล)
- ช่วยแก้ไข้อภิญญาณ (ใบ)
- ช่วยแก้พิษสำแลง (ไข้ซ้ำ) (กระพี้)
- ช่วยระงับอาการไอ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการคอแห้ง (เปลือก)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : prayod