ฟักข้าว สรรพคุณและประโยชน์
ฟักข้าว ชื่อสามัญ Gac (แก็ก )
ฟักข้าว ภาษาอังกฤษ Baby jackfruit, Cochinchin gourd, Spiny bitter gourd, Sweet gourd
ฟักข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
สมุนไพรฟักข้าว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะข้าว (แพร่), ขี้กาเครือ (ปัตตานี), พุกู้ต๊ะ (แม่ฮ่องสอน), ผักข้าว (ตาก ภาคเหนือ) เป็นต้น
ภาพจาก : th.openrice.com
ลักษณะของฟักข้าว
ต้นฟักข้าว มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก เป็นไม้เถาเลื้อย อายุยิ่งมากเถายิ่งใหญ่ มีมือเกาะคล้ายกับตำลึง ชอบแสงแดด เลื้อยได้ทั้งบนพื้น บนต้นไม้ บนรั้ว บนหลังคา (ขอให้มีที่เกาะ)
ใบฟักข้าว ใบเป็นใบเดี่ยว ใบเป็นรูปหัวใจหรือรูปไข่ คล้ายกับใบโพธิ์ ความกว้างและความยาวของใบมีขนาดเท่ากัน โดยยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก ประมาณ 3-5 แฉก
ดอกฟักข้าว ดอกจะออกตรงบริเวณข้อต่อระหว่างใบหรือตามซอกใบ โดยจะออกดอกข้อละหนึ่งดอก ลักษณะของดอกฟักข้าวจะคล้ายกับดอกตำลึง กลีบดอกมีสีขาวอมเหลือง หรือขาวแกมเหลือง ส่วนก้านเกสรและกลีบละอองจะมีสีม่วงแกมดำหรือสีม่วงแกมน้ำตาล ใบเลี้ยงประดับมีขน โดยดอกฟักข้าวจะเป็นดอกแบบไม่สมบูรณ์เพศ แยกเป็นดอกเพศเมียและดอกเพศผู้จะอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็ก ปลายใบมน ส่วนดอกเพศผู้ปลายใบแหลม ดอกฟักข้าวมีสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ
ผลฟักข้าว มีลักษณะคล้ายรูปไข่กลมรี ที่เปลือกมีหนามเล็ก ๆ อยู่รอบผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวอมเหลือง แต่เมื่อสุกแล้วผลจะมีสีแดงหรือสีส้มอมแดง ผลสุกเนื้อจะเป็นสีเหลือง มีเยื่อกลางหุ้มเมล็ดเป็นสีแดง
เมล็ดฟักข้าว ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมากเรียงตัวอยู่คล้ายเมล็ดแตง ด้านในเมล็ดมีเนื้อสีขาว (เมล็ดดิบมีพิษ ต้องคั่วหรือต้มให้สุกก่อนนำมาใช้)
ภาพจาก mthai.com
สรรพคุณและประโยชน์ของฟักข้าว
- ผลอ่อนและใบอ่อนช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ (ผลอ่อน, ยอดฟักข้าว)
- ช่วยบำรุงปอด ช่วยแก้ฝีในปอด (เมล็ด)
- ใบฟักข้าวมีรสขมเย็น มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ตัวร้อนได้ (ใบ)
- รากช่วยถอนพิษไข้ (ราก)
- ช่วยขับเสมหะ (ราก)
- ช่วยแก้ท่อน้ำดีอุดตัน (เมล็ด)
- ช่วยขับปัสสาวะ (เมล็ด)
- ใบช่วยแก้ริดสีดวง (ใบ)
- ใบนำมาตำใช้พอกแก้อาการปวดหลังได้ (ใบ)
- ช่วยแก้กระดูกเดาะ (ใบ)
- ช่วยแก้ข้อเข่า อาการปวดตามข้อ (ราก)
- เมล็ดแก่นำมาบดให้แห้ง ผสมน้ำมันหรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อย นำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบ อาการบวม จะช่วยรักษาอาการได้ และยังช่วยรักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ผดผื่นคันต่าง ๆ อาการฟกช้ำได้อีกด้วย (เมล็ดแก่)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , medthai
ภาพจาก : thaiarcheep