กรามช้าง สรรพคุณและประโยชน์

ต้นกรามช้าง จัดเป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ มีความยาวได้ถึง 10 เมตร กิ่งก้านเรียวมีหนาม ใบกรามช้าง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปวงรีถึงรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-18 เซนติเมตรและยาวประมาณ 13-27 เซนติเมตร

กรามช้าง สรรพคุณและประโยชน์

กรามช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax blumei A.DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Smilax perfoliata Blume) จัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE)

ลักษณะของต้นกรามช้าง

ต้นกรามช้าง จัดเป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ มีความยาวได้ถึง 10 เมตร กิ่งก้านเรียวมีหนาม

ใบกรามช้าง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปวงรีถึงรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-18 เซนติเมตรและยาวประมาณ 13-27 เซนติเมตร มีเส้นใบออกจากโคนใบไปจรดปลายใบ 5 เส้น ส่วนก้านใบเป็นสันสามเหลี่ยมมน และมีหูใบเป็นรูปไข่กลับแผ่เป็นครีบ มือเกาะยาวประมาณครึ่งหนึ่งของแผ่นใบ

ดอกกรามช้าง ออกดอกเป็นช่อ ออกเป็นคู่ ๆ ตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น โดยช่อดอกเพศผู้จะมีดอกย่อยประมาณ 30-50 ดอก ส่วนช่อดอกเพศเมียจะมีดอกย่อยประมาณ 20-40 ดอก มีกลีบรวมสีเหลืองแกมสีเขียว

ผลกรามช้าง ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม

ภาพจาก pinterest.com

สรรพคุณและประโยชน์ของกรามช้าง

  1. ตำรับยาแก้ทอนซิลอักเสบ ระบุให้ใช้รากกรามช้าง รากตาล และรากไผ่ นำมาฝนน้ำรับประทานเป็นยาแก้ทอนซิลอักเสบ (ราก)
  2. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้หัวใต้ดินของต้นกรามช้างนำมาฝนหรือหั่นเป็นชิ้น ๆ โดยใช้ครั้งละ 2-3 ชิ้น นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นยาแก้ท้องเสีย (หัว)
  3. ตำรับยารักษารำมะนาดระบุให้ใช้รากกรามช้าง รากเกล็ดลิ่น รากชุมเห็ดเล็ก รากชุมเห็ดเทศ รากงิ้ว รากถั่วพู รากแตงเถื่อน รากฟักข้าว รากปอขาว ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เครือข้าวเย็น ต้นกระไดลิง ต้นมะกอกเผือก นำมาฝนกับน้ำซาวข้าวเจ้ากินรักษารำมะนาด (ราก)
  4. ตำรับยาผีเครือเหลือง ระบุให้ใช้รากกรามช้าง รากก่อเผือก รากคำแสนซีก รากไค้ตีนกรอง รากช่ำ รากเล็บเหยี่ยว รากมะพร้าว รากมะตูมป่า แก่นชมพู่ แก่นจันทน์แดง แก่นศรีคันไชย แก่นหาดเยือง ข้าวเย็น เขาเลียงผา ต้นกระไดลิง ต้นหมากขี้แรด นอแรดเครือ ว่านกีบแรด นำมาฝนกับน้ำข้าวเจ้ากินเป็นยาผีเครือเหลือง (ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , medthai
ภาพจาก : medthai