คัดเค้า สรรพคุณและประโยชน์
คัดเค้า ชื่อสามัญ Siamese randia
คัดเค้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyceros horridus Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Randia siamensis (Miq.) Craib) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)
สมุนไพรคัดเค้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จีเก๊า จีเค้า โยทะกา หนามลิดเค้า (เชียงใหม่), จีเค๊า พญาเท้าเอว (กาญจนบุรี), คัดเค้าหนาม (ชัยภูมิ), คัดเค้าเครือ (นครราชสีมา), เค็ดเค้า (ภาคเหนือ), คัดเค้า คันเค่า (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), คัดเค้า คัดค้าว (ภาคกลาง), เขี้ยวกระจับ (ภาคใต้, ภาคตะวันตกเฉียงใต้), จี้เค้า, หนามเล็บแมว เป็นต้น
ลักษณะของต้นคัดเค้า
ต้นคัดเค้า เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นพรรณไม้เถาเนื้อเหนียวแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงประมาณ 3-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบและเป็นสีน้ำตาล ลักษณะของลำต้นคดและยาว มักขึ้นพาดพันเลื้อยไปตามต้นไม้และกิ่งไม้ หากไม่มีที่เลื้อยพันก็จะเป็นไม้กึ่งเลื้อยกึ่งยืนต้นคล้ายกับนมแมว ตามลำต้นมีข้อ ซึ่งจะมีใบงอกออกเป็นคู่ ๆ และจะมีหนามแหลมโค้งงองุ้มออกจากโคนใบมีลักษณะคล้ายกับเขาควายข้อละหนึ่งคู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไม้ชนิดนี้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำ และการตอนกิ่ง แต่จะนิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เพราะงอกได้ง่าย และต้นกล้าที่ได้จากการการเพาะเมล็ดจะมีความแข็งแรงและเจริญเติบโตได้เร็ว ต้องการน้ำไม่มากนักในการเจริญเติบโต สามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่มีแสงแดดจัดแบบเต็มวันและแสงแดดปานกลาง และมักขึ้นทั่วไปตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณตามภาคต่าง ๆ หรือตามสวน หรือตามที่รกร้างว่างเปล่า หรือมักปลูกกันไว้ตามบ้านหรือตามวัดเพื่อใช้ทำเป็นยาบ้างก็มี
ใบคัดเค้า ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี (ลักษณะเรียวยาวคล้ายกับใบมะม่วง) ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ท้องใบเรียบลื่นและมีสีอ่อนกว่า เนื้อใบเหนียวหนาแข็ง และมีหูใบขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างก้านใบ
ดอกคัดเค้า ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นช่อใหญ่ แต่ละช่อดอกจะมีขนาดตั้งแต่ 4-10 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 10-25 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาวและมีกลิ่นหอม ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายดอกเข็ม มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิด ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น แต่ละดอกจะมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านยื่นยาวพ้นกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรูปกระสวยสีขาวหรือเป็นรูปแถบเส้นอยู่ระหว่างกลีบดอก 6 แถบ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีขาวอมสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ดอกจะบานพร้อมกันทั้งช่อ เมื่อดอกที่เริ่มบานจะเป็นสีขาวนวลแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวลในวันต่อมา ดอกจะส่งกลิ่นหอมแรงมากในช่วงเย็นถึงช่วงกลางคืน โดยจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงช่วงฤดูหนาว และบางข้อมูลก็ระบุว่าจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว (เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม) บ้างก็ว่าจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน (เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม)
ผลคัดเค้า ออกผลเป็นพวงหรือออกเป็นกลุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลมีขนาดเท่าเมล็ดพุทรากลม ๆ โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ปลายผลแหลม ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กอัดแน่นกันเป็นจำนวนมาก เมล็ดขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ โดยจะติดผลในช่วงเดือนเมษายน
ภาพจาก : topicstock.pantip.com
สรรพคุณและประโยชน์ของคัดเค้า
- ผลมีรสเฝื่อนปร่า ช่วยบำรุงโลหิต (ผล,รากและผล,ต้น, เปลือกต้น, ทั้งต้น)
- ผลใช้ปรุงเป็นยาต้มกินเป็นยาฟอกโลหิต (ผล)
- ช่วยแก้โลหิต (เถา, ทั้งต้น)
- รากมีรสฝาดเย็น ใช้เป็นยาขับโลหิต (ราก)
- ใบมีรสเฝื่อนเมา ช่วยแก้โลหิตซ่าน (ใบ, เปลือกต้น)
- ดอกคัดเค้าช่วยแก้โลหิตในกองกำเดา (ดอก)
- รากมีรสเย็นและฝาดเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยารักษาไข้เพื่อโลหิต (ราก)
- รากใช้เป็นยารักษาโรครัตตะปิดตะโรค (โรคเกี่ยวกับโลหิตชนิดหนึ่ง) (ราก)
- เปลือกต้นมีรสฝาด ช่วยปิดธาตุ (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้เลือดออกตามทวารทั้งเก้า (เปลือกต้น)
- รากหรือแก่นใช้ฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้ใบนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก, เถา, แก่น, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้พิษไข้กาฬ (หนาม)
- หนามใช้เป็นยาลดไข้ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (หนาม)
- ช่วยแก้อาการไอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้
- รากนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ราก, ดอก)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : the-than