ประยงค์ สรรพคุณและประโยชน์
ประยงค์ ชื่อสามัญ Chinese rice flower
ประยงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odorata Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)
สมุนไพรประยงค์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะยง ขะยม พะยงค์ ยม (ภาคเหนือ), ประยงค์บ้าน ประยงค์ใบใหญ่ (ภาคกลาง), หอมไกล (ภาคใต้) เป็นต้น
ลักษณะของประยงค์
ต้นประยงค์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มทึบค่อนข้างกลม มีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตรและสูงไม่เกิน 5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง และวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ ทนความแห้งแล้งได้ดีมาก แต่ควรปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดตลอดทั้งวัน เพราะจะช่วยทำให้มีทรงพุ่มสวยงาม
ใบประยงค์ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ ใบย่อยมี 5 ใบ (บางใบอาจมีใบย่อยเพียง 3 ใบ) ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบแผ่ออกเป็นปีก
ดอกประยงค์ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กมากกว่า 10 ดอก ดอกย่อยเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นหอมแรง ลอยไปได้ไกล (แม้ดอกแห้งก็ยังมีกลิ่นหอมอยู่) มีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกซ้อนกันไม่บานออก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมเล็กคล้ายไข่ปลาสีเหลือง สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตลอดทั้งวัน
ผลประยงค์ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี มีขนาดประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 1-2 เมล็ด
ภาพจาก : idealize.co.th
สรรพคุณและประโยชน์ของประยงค์
- ในประเทศฟิลิปปินส์จะใช้รากและใบนำมาต้มเป็นยาบำรุงร่างกาย (รากและใบ)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ผอมแห้งแรงน้อย (ราก)
- ดอกมีรสเฝื่อนขมเล็กน้อย ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้หูตาสว่าง จิตใจปลอดโปร่ง แก้อาการเมาค้าง (ดอก)
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก)
- ดอกช่วยดับร้อน แก้อาการกระหายน้ำ (ดอก) ยาชงจากดอกใช้ดื่มแบบน้ำชาจะเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พุพอง (ดอก)
- ช่วยแก้อาการไอ (ดอก) แก้ไอหืด (ดอก)
- รากช่วยแก้เลือด แก้กำเดา (ราก)
- รากมีรสเฝื่อนเย็น ใช้รับประทานเป็นยาทำให้อาเจียน (ราก)
- ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ราก)
- ใช้เป็นยากวาดเด็ก แก้เสมหะด่าง (ดอก)
- ช่วยลดอาการอึดอัดแน่นหน้าอก (ดอก)
- ช่วยฟอกปอด (ดอก)
- รากและใบใช้แก้โรคที่เกี่ยวกับทรวงอก อาการชัก และแก้ไข้ (รากและใบ)
- ช่วยแก้ลมจุกเสียด (ดอก)
- ช่วยแก้ริดสีดวงในท้อง (ดอก)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : khaosod