ผักกาดน้ำ ชื่อสามัญ Common plantain, Greater plantain, Waybread (ในภาษาอังกฤษคำว่า Plantain จะหมายถึง ต้นกล้วย ซึ่งต้นกล้วยชนิดนี้เมื่อสุกแล้วจะต้องเอาไปเผาถึงจะใช้ปรุงเป็นอาหารได้)
ผักกาดน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago major L. จัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)
สมุนไพรผักกาดน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าเอ็นยืด หญ้าเอ็นหยืด หญ้าเอ็นอืด (เชียงใหม่), หมอน้อย (กรุงเทพฯ), ผักกาดน้ํา ผักกาดน้ำไทย ผักกาดน้ำใหญ่ (ไทย), เชียจ่อยเช่า ตะปุกชี้ ยั้วเช่า ฮำผั่วเช่า เซียแต้เฉ้า (จีน), ต้าเชอเฉียนเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น
ในพืชวงศ์เดียวกันยังพบอีกพันธุ์คือ ผักกาดน้ำเล็ก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plantago asiatica L. ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่คล้ายกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ จะแตกต่างกับผักกาดน้ำที่กล่าวถึงในบทความนี้ตรงที่ผักกาดน้ำจะมีขนาดของใบใหญ่กว่า ลำต้นสูงกว่า และมีเมล็ดมากกว่าผักกาดน้ำเล็ก
ลักษณะของผักกาดน้ำ
ต้นผักกาดน้ำ หรือ หญ้าเอ็นยืด จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงประมาณ 30-120 เซนติเมตร โคนต้นติดอยู่กับดิน รากสั้น แตกแขนงเป็นฝอยมาก พืชชนิดนี้เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีส่วนผสมพิเศษ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นตามทุ่งหญ้า พื้นที่โล่งแจ้งที่มีความชุ่มชื้น
ใบผักกาดน้ำ ใบจะแทงขึ้นมาจากใต้ดินคล้ายกับใบผักกาด แต่จะมีก้านใบที่ยาวกว่า ก้านใบยาวเท่ากับแผ่นใบ ใบเป็นใบเรียงสลับ โคนลำต้นมีกาบใบห่อหุ้มอยู่ แผ่นใบผักกาดน้ำมีลักษณะหนาคล้ายกับใบผักคะน้า ใบเป็นรูปไข่กลับและมีขนาดกว้าง โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 12-16 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีเส้นใบตามยาวประมาณ 5-7 เส้น โดยลักษณะของใบจะคล้ายกับช้อนสังกะสีขนาดใหญ่ และใบจะแตกออกรอบ ๆ บริเวณต้น ที่เรียกว่าหญ้าเอ็นยืดก็เพราะเมื่อนำก้านใบมาหักแล้วค่อย ๆ ดึงออกจะเห็นเส้นเอ็นยืดออกมา
ดอกผักกาดน้ำ ออกดอกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะชูขึ้นมาจากกลางกอ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีดอกย่อยขนาดเล็ก แห้ง เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาล และไม่มีก้านดอก
ผลผักกาดน้ำ ผลพบได้ในดอก เป็นผลแห้ง ลักษณะค่อนข้างกลม มีรูปร่างไม่แน่นอน ผลมีขนาดเล็กสีเขียวอมสีน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ เมื่อสุกแล้วจะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 8-15 เมล็ด หรืออาจมีมากถึง 15 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร
ภาพจาก technologychaoban.com
สรรพคุณและประโยชน์ของผักกาดน้ำ
- ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ดอกเก๊กฮวย ว่านกาบหอย กล้วยหอมดิบ รากบัวหลวง สนหมอก ฯลฯ (ทั้งต้น)
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กระษัย (ราก)
- ใช้แก้ความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้ผักกาดน้ำและพลูคาวอย่างละ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เข้าใจว่าคือส่วนของต้นและใบ)
- ช่วยทำให้ตาสว่าง (เมล็ด)
- ช่วยรักษาตาแดงเฉียบพลัน ตาเป็นต้อ (ต้น) แก้ขอบตาเป็นเม็ดบวม (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด ใช้กินเป็นยาแก้อาการร้อนใน แก้เจ็บคอ มีฤทธิ์เป็นยาเย็น (ต้น) ส่วนเมล็ดก็เป็นยาแก้ร้อนในเช่นกัน (เมล็ด)
- ช่วยแก้ไอหวัด หลอดลมอักเสบ (ต้น) ช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอ (เมล็ด)รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)
- ใบใช้ต้มกินเป็นยาแก้เลือดกำเดาไหล (ใบ)
- ช่วยขับน้ำชื้น (ต้น)
- ช่วยแก้ท้องร่วง (ทั้งต้น)[4] ต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ (ต้น)
- แก้บิด ให้นำมาต้มร่วมกับผักพลูคาว (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ตำรายาไทยใช้ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ละลายก้อนนิ่วในไต แก้นิ่วในถุงน้ำดี ขับล้างทางเดินปัสสาวะ แก้ช้ำรั่ว หรือทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ทั้งต้นที่ได้มาใส่ในเครื่องปั่นแล้วปั่นให้ละเอียด นำไปผสมกับน้ำซาวข้าวประมาณ 1 ขวดแม่โขง แล้วนำมาดื่มให้หมดภายใน 1 วัน และให้ดื่มติดต่อกัน 2-3 วัน ก้อนนิ่วจะละลายหลุดออกมาตามท่อปัสสาวะ (ทั้งต้น) ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เมล็ด 500 กรัมนำมาต้มกับน้ำ 3 ลิตร โดยต้มจนเหลือน้ำ 1 ลิตรแล้วนำมาแบ่งกิน 3 ครั้ง เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)
- ช่วยแก้ปัสสาวะแดง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น (ทั้งต้น) ส่วนเมล็ดก็เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือดเช่นกัน (เมล็ด)
- ช่วยแก้กามโรค หนองใน (ทั้งต้น)
- มีบางข้อมูลที่ระบุว่าสามารถนำมาใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ โดยใช้ได้ทั้งต้นและใบ แต่ส่วนของใบจะมีสรรพคุณมากที่สุด วิธีก็คือให้นำไปตากแดดให้แห้งแล้วทำเป็นชาชงดื่ม หรือจะกินเป็นผักสดก็ได้ และยังใช้เป็นยาขับประจำเดือนของตรี โดยช่วงที่สรรพคุณตัวยาดีที่สุด คือ ช่วงการออกดอกใหม่ ๆ (ช่วงฤดูฝน) ข้อมูลนี้ไม่ขอยืนยันนะครับ เพราะแหล่งข้อมูลไม่ได้อ้างอิงไว้ว่าเอาข้อมูลมาจากที่ไหน (ใบ)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : healthaddict