พุดจีบ สรรพคุณและประโยชน์
พุดจีบ ชื่อสามัญ Crepe jasmine, Clavel De La India, East Indian rosebay, Pinwheel flower
พุดจีบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabernaemontana divaricata (L.) R.Br. ex Roem. & Schult. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)
สมุนไพรพุดจีบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พุดป่า (ลำปาง), พุดซ้อน พุดลา พุดสา พุดสวน (ภาคกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของพุดจีบ
ต้นพุดจีบ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบขึ้นได้ตามป่าดิบทางภาคเหนือ[5] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 3-5 เมตร[2] ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเตี้ย แต่มีการทิ้งใบในส่วนของต้นด้านล่าง จึงทำให้พุ่มดูโปร่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องเล็ก ๆ และทุกส่วนของต้นจะมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ การตอน และวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงปานกลาง
ใบพุดจีบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร หลังใบเรียบลื่นเป็นมันและเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบและเป็นสีอ่อนกว่า
ดอกพุดจีบ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามซอกใบ โดยจะออกดอกตามซอกใบใกล้กับปลายยอดหรือปลายกิ่ง ช่อละประมาณ 2-3 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาว เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5-10 แฉก และมีลักษณะเป็นคลื่นหมุนเวียนซ้อนกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นแฉกเรียวแหลม ดอกมีกลิ่นหอม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผลพุดจีบ ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นฝักคู่ติดกัน ลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ฝักมีลักษณะโค้งยาว 2.5-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม ขอบฝักเป็นสันนูน เนื้อผลเป็นสีแดง เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็นแนวเดียว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 3-6 เมล็ด
ภาพจาก : pharmacy.mahidol.ac.th
สรรพคุณและประโยชน์ของพุดจีบ
- รากมีรสเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก)
- กิ่งช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการใช้กิ่ง 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำดื่ม (กิ่ง)
- เนื้อไม้มีรสเฝื่อน เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาช่วยลดไข้ ลดพิษไข้ (เนื้อไม้)
- ใบมีรสเฝื่อน นำมาตำกับน้ำตาลชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ใบ)
- รากนำมาเคี้ยวช่วยแก้อาการปวดฟัน (ราก)
- รากเป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)
- รากเป็นยาถ่าย (ราก)
- ต้นมีรสเฝื่อน นำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิ (ต้น) ส่วนรากก็เป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ราก)
- ดอกมีรสเฝื่อน คั้นเอาแต่น้ำทาแก้โรคผิวหนัง (ดอก)
- รากเอามาฝนแล้วนำมาใช้ทาผิวบริเวณที่เป็นตุ่ม จะช่วยทำให้ตุ่มยุบเร็วขึ้น (ราก) นอกจากนี้ในส่วนของรากยังมีข้อมูลที่ระบุด้วยว่ารากกับหัวมีรสขม ในทางอายุรเวทของอินเดียจะใช้เป็นยาแก้หิด แก้พยาธิไส้เดือน เพียงแต่ผู้เขียนยังหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมายืนยันไม่ได้
- รากช่วยระงับอาการปวด (ราก)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน