เบ็นคิว เปิดแผนเชิงรุก บาลานซ์เสี่ยงธุรกิจ เพิ่มน้ำหนักกลุ่มธุรกิจบีทูบี หลังโควิดหั่นกำลังซื้อ ส่งจอกระดานอัจฉริยะขยายฐานโรงเรียน มหาวิทยาลัยรัฐ หวังเก็บส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม ตั้งเป้า 3 ปีเพิ่ม 50% พร้อมปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มบีทูซี รับเทรนด์เอ็นเตอร์เทนเมนต์
นายวัชรพงษ์ วงษ์มา รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ บริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
ทำให้ภาพรวมธุรกิจปี 2564 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 290 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโปรเจ็กเตอร์ จอกระดานอัจฉริยะหรือ IFP (interactive flat panel) 100 ล้านบาท ที่เหลือมาจากกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น จอมอนิเตอร์จาก 3 แบรนด์ (แบรนด์ ZOWIE, Ben Q, MOBIUZ) โคมไฟติดหน้าจอ เป็นต้น
ในส่วนโปรเจ็กเตอร์โดยรวมปี 2564 (ม.ค.-ก.ย. 64) ทั้งตลาดอยู่ที่ 42,343 เครื่อง ขณะที่บริษัทมียอดขายในเชิงจำนวนอยู่ที่ 3,900 เครื่อง ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2563 แต่เชิงมูลค่าเพิ่มขึ้น 34.79% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากบริษัทเน้นการขายเครื่องสมาร์ทโปรเจ็กเตอร์ที่รองรับแอปพลิเคชั่นสำหรับการประชุม และเฟิร์มแวร์ over-the-air (OTA) เพิ่มขึ้น โดยมียอดขายถึง 800 เครื่อง เพราะสอดรับกับพฤติกรรมการทำงานรูปแบบไฮบริด ทำให้ยอดขายโดยรวมของโปรเจ็กเตอร์โตขึ้น
ทิศทางธุรกิจปีนี้จะเดินหน้าเชิงรุกมากขึ้น ทั้งในส่วนของกลุ่มบีทูบี (business to business) และบีทูซี (business to consumer) โดยกลุ่มบีทูซีปรับกลยุทธ์การทำตลาดโปรเจ็กเตอร์ใหม่ เน้นเอ็นเตอร์เทนเมนต์มากขึ้น ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์กลุ่มโปรเจ็กเตอร์ เกมมิ่ง และโปรเจ็กเตอร์เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องเล่นเกม ทั้ง Nintendo และ PS5
ในส่วนของจอเกมมิ่งแบรนด์ ZOWIEคาดว่าปีนี้จะโตขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมามีการจัดแข่งขันอีสปอร์ตรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น
สำหรับกลุ่มธุรกิจบีทูบีจะให้น้ำหนักการผลักดันผลิตภัณฑ์กลุ่มจอกระดานอัจฉริยะเข้าไปในสถาบันการศึกษาของหน่วยงานรัฐที่มีงบประมาณของตัวเอง เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มอาชีวศึกษา เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูง ทั้งจากการเปลี่ยนเครื่องและจัดซื้อเครื่องใหม่
ขณะที่ภาพรวมผลิตภัณฑ์กลุ่มจอกระดานอัจฉริยะมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ปี 2564 จอ IFP โดยรวมมียอดขายอยู่ที่ 3,200 บาน เนื่องจากมีฟังก์ชั่นสอดรับกับรูปแบบการศึกษายุคหลังโควิด
“โควิดทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง บริษัทก็ต้องออกผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย ในทุกระดับราคามากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า พร้อมเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มบีทูบีมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี จะปรับสัดส่วนรายได้กลุ่มทูบีและบีทูซีเป็น 50 : 50 เท่ากัน เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยงของธุรกิจ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าบีทูบี (องค์กร โรงเรียน) 60% และบีทูซี 40%”
ที่ผ่านมาบริษัทมีฐานลูกค้ากลุ่มโรงเรียนอินเตอร์ที่แข็งแรง แต่เมื่อโควิดระบาด ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ชะลอการซื้อเครื่อง ก่อนกลับมาสั่งซื้ออีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทแม่ไต้หวันก็ยังให้ความสำคัญกับตลาดไทย เพราะมีโอกาสขยายตัวอีกมาก
นอกจากนี้มีแผนจะร่วมมือพาร์ตเนอร์อีกหลายราย หนึ่งในนั้น คือ เอเซอร์ ประเทศไทย คาดว่าจะเปิดแนวทางการร่วมมือได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ อีกทั้งเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงอุปกรณ์เสริมที่สอดรับกับการเรียน และทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น เช่น ไมค์ อุปกรณ์ต่อพ่วง เป็นต้น
อ่านข่าวต้นฉบับ: “เบ็นคิว” เพิ่มน้ำหนักเจาะบีทูบี บาลานซ์ความเสี่ยงธุรกิจ