ยากับลูกในท้อง

การทานยาสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งว่าควรใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด

ภาพจาก : baby.kapook.com

การทานยาสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งว่าควรใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด

ยากับลูกในท้อง เมื่อทารกในครรภ์ได้รับยาและสารเคมี อาจก่อให้เกิดผลดังนี้

  1. ไม่เกิดความผิดปกติใดๆ หรือไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติใดๆ ส่วนใหญ่แล้วทารกที่คุณแม่ใช้ยาขณะตั้งครรภ์มักจะไม่เกิดผลเสียใดๆ
  2. ความพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นเนื่องจากได้รับยาบางชนิด ในช่วงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 จนกระทั่งครบ 8 สัปดาห์เต็ม ซึ่งความพิการเหล่านี้ บางครั้งมีลักษณะจำเพาะว่าเป็นผลจากยาตัวใด แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่จำเพาะเจาะจงว่าเกิดจากยาตัวใด เพียงแต่เพิ่มอุบัติการณ์ของความพิการแต่กำเนิดเมื่อใช้ยานั้น
  3. ความผิดปกติของการเจริญเติบโตของร่างกาย และการทำงานของอวัยวะต่างๆ เกิดจากการได้รับยาในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ ทำให้ทารกโตช้าในครรภ์หรืออวัยวะทำงานผิดปกติ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หัวใจตอบสนองต่อการขาดออกซิเจนผิดปกติ เกล็ดเลือดต่ำ ภาวะเหลืองในทารกแรกเกิดเป็นต้น
  4. เกิดผลเสียโดยอ้อมต่อทารกในครรภ์ คือผลที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากผลของยาต่อทารกโดยตรง แต่เกิดจากการที่ยามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในมารดา แล้วจึงเกิดผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ อาจทำให้ความดันโลหิตและเลือดไหลเวียนไปที่รกลดลง ทำให้ทารกโตช้าในครรภ์ได้ เป็นต้น
  5. เกิดผลดีต่อทารกในครรภ์ เช่น การใช้ Dexamethasone หรือ Betamethasone เพื่อกระตุ้นการทำงานของปอด ทารกจะลดอุบัติการณ์ของการเกิดความไม่สมบูรณ์ของบอด ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนด

ภาพจาก : mamaexpert.com

ยากลุ่มต่างๆ ที่ใช้บ่อยในระหว่างกำลังตั้งครรภ์

  1. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการที่พบบ่อยในไตรมาสแรก แนะนำให้รับประทานอาหารปริมาณน้อยในแต่ละครั้ง แต่รับประทานบ่อยๆ โดยการตรวจดูว่ามีสาเหตุอื่นด้วยหรือไม่ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจให้ยาวิตามินบี 6 ร่วมกับยา Doxylamine ในรายที่มีการรุนแรงจนกระทั่งมีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ควรรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทดแทน และให้ยาแก้อาเจียน เช่น Metoclopramide promethazine ซึ่งยากลุ่มนี้ไม่มีหลักฐานว่าเกิดความผิดปกติในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีรายงานเพียงพอในมนุษย์ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
  2. ยาระบาย อาการท้องผูกเป็นอาการที่พบบ่อยขณะตั้งครรภ์ อาจถึงร้อยละ 40 ในไตรมาสแรก แต่อาการมักจะไม่รุนแรงมาก การป้องกันและรักษาท้องผูกขณะตั้งครรภ์ ควรรับประทานอาหารที่มีกากมากและอาจให้ยาระบายกลุ่มที่ช่วยให้ย่อยง่อยขึ้น ยาบางชนิดอาจทำให้ปวดบิดๆ และระคายเคืองทวารหนักได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือยาที่คุณแม่รับประทานในช่วงการตั้งครรภ์นี้ อาจจะมีผลกับทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ควรจะระมัดระวังและเลือกอาหารการกินซักนิด หากจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งนะคะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก