วิธีป้องกันจุดเสี่ยง ในห้องน้ำสาธารณะ

แนะวัด ศาสนสถาน และสถานประกอบการ ทุกแห่ง ล้างห้องน้ำให้สะอาดเพื่อรองรับประชาชนที่ไปใช้บริการ โดยเฉพาะจุดที่มีการสัมผัสบ่อย เพื่อลดความเสี่ยงโรคโควิด-19

แนะวัด ศาสนสถาน และสถานประกอบการ ทุกแห่ง ล้างห้องน้ำให้สะอาดเพื่อรองรับประชาชนที่ไปใช้บริการ โดยเฉพาะจุดที่มีการสัมผัสบ่อย เพื่อลดความเสี่ยงโรคโควิด-19

          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ของวัด ศาสนสถาน และสถานประกอบการทุกแห่ง ร่วมกันล้างห้องน้ำสาธารณะให้สะอาดเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการ เน้นการทำความสะอาดบริเวณ ผิวสัมผัสร่วม 7 จุดเสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดี และลดความเสี่ยงโรคโควิด-19 ได้แก่

1.สายฉีดชำระ

2.ที่กดโถชักโครก

3.โถปัสสาวะ

4.ลูกบิดหรือกลอนประตู

5.ที่รองนั่งโถชักโครก

6.พื้นห้องน้ำ

7.หัวก๊อกน้ำ

          ส่วนผู้ใช้บริการ ต้องช่วยกันรักษาความสะอาด และมีพฤติกรรมในการใช้ห้องน้ำอย่างถูกต้อง โดยปิดฝาโถชักโครกก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่างขณะรอใช้ห้องน้ำ 1-2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถชักโครกแบบนั่งราบ เช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถ ไม่ทิ้งวัสดุใดๆ ลงไป และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ ถือเป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเอง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมด้วย นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันตนเองตามหลัก UP-DMHTA โดยเน้นย้ำการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือ เพื่อป้องกันโรค

สำหรับพนักงานทำความสะอาด ขณะปฏิบัติงานต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง สวมถุงมือยาง และผ้ายางกันเปื้อน สวมรองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น และหลังจากปฏิบัติงานเสร็จต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันที

          ทั้งนี้ กรมอนามัยได้สนับสนุนให้สถานประกอบการ วัด และศาสนสถาน ทุกแห่ง ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาห้องน้ำสาธารณะให้ได้มาตรฐานสาธารณะระดับประเทศ (HAS)

1.สะอาด (Health) ห้องส้วมดำเนินการตามหลักสุขาภิบาล สุขภัณฑ์ต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น

2.เพียงพอ (Accessibility) มีห้องน้ำเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ

3.ปลอดภัย (Safety) ผู้ใช้บริการจะต้องปลอดภัยขณะใช้ห้องน้ำ เช่น สถานที่ตั้งไม่เปลี่ยว แยกเพศชาย-หญิง มีแสงสว่างเพียงพอ

ที่มา : มติชน ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต