ปีบทอง สรรพคุณและประโยชน์
ปีบทอง ชื่อสามัญ Tree jasmine
ปีบทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Mayodendron igneum (Kurz) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Radermachera ignea (Kurz) Steenis) จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)
สมุนไพรปีบทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จางจืด (เชียงใหม่), กาซะลองคำ กาสะลองคำ แคชาญชัย (เชียงราย), แคเป๊าะ สำเภาหลามต้น (ลำปาง), กากี (สุราษฎร์ธานี), สะเภา สำเภา อ้อยช้าง (ภาคเหนือ), ปีบทอง (ภาคกลาง), ปั้งอ๊ะมี (ม้ง), เดี้ยงด่งเบี้ยง (เมี่ยน), กาสะลอง (ทั่วไป) เป็นต้น[
หมายเหตุ : ปีบทองที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นปีบทองที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Radermachera hainanensis Merr.
ลักษณะของปีบทอง
ต้นปีบทอง หรือ ต้นกาซะลองคำ มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่ทางภาคใต้ในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพชรบุรี อุทัยธานี ขึ้นไปถึงทางภาคเหนือของประเทศ จัดเป็นไม้ยืนต้นเล็กถึงขนาดกลาง และเป็นไม้ผลัดใบแต่จะผลัดไม่พร้อมกัน มีความสูงของต้นประมาณ 6-20 เมตร ต้นมีเรือนยอดเป็นรูปใบหอกหรือไข่ ทรงพุ่มแน่นทึบ กิ่งก้านแผ่ออกเป็นชั้น ๆ ออกกว้าง ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ตามกิ่งก้านและตามลำต้นจะมีรูระบายอากาศกระจายอยู่ทั่วไป เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นลายประสานกันคล้ายตาข่าย เปลือกต้นขรุขระเป็นเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำกิ่ง และการแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ตามชายดิบแล้งตามเชิงเขา และตามเขาหินปูน ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร
ใบปีบทอง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกแบบสามชั้น ยาวประมาณ 18-60 เซนติเมตรเรียงตรงข้ามกัน มีใบประกอบย่อยประมาณ 3-4 คู่ ส่วนใบย่อยมีประมาณ 3-5 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปหอก รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบแหลมบางครั้งยาวคล้ายหางหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมสอบ หรือบางใบโคนในอาจเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบบิดเป็นคลื่น ๆ เล็กน้อย และมักมีต่อมอยู่ที่โคนด้านหลังของใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นมัน ท้องใบมีต่อมเล็ก ๆ อยู่ประปรายทั่วไป และก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร ส่วนก้านใบปลายยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร
ดอกปีบทอง ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ หรือออกเป็นช่อกระจุกทั่วไปตามกิ่งก้านและตามลำต้น ในหนึ่งกระจุกจะมีดอกอยู่ประมาณ 3-10 ดอก และจะทยอยบานครั้งละ 3-5 ดอก ดอกมีก้านช่อดอกสีน้ำตาลอมสีแดงและมีขนอ่อน ๆ ขึ้นอยู่ประราย ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยังมีกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกที่เป็นสีน้ำตาลอมสีแดง ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีรอยผ่าเปิดด้านเดียว ด้านหน้าตามทางยาวติดกันเป็นหลอดห่อหุ้มกลีบดอก ส่วนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกโคนแคบ ตรงกลางค่อย ๆ โป่งออก หรือเป็นรูปกรวยหรือเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังยาว ปลายกลีบดอกแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ มีลักษณะบานแผ่และม้วนลงด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 4 อัน โผล่ออกมาเสมอปากกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้มีขนขึ้นปกคลุม ส่วนยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2 แฉก เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร โดยดอกจะบานอยู่ประมาณ 1-2 วัน แล้วจะร่วงหล่นและดอกใหม่ก็จะทยอยบานขึ้นมาแทนที่
ผลปีบทอง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปฝักดาบยาวและห้อยลง หรือเป็นรูปทรงกระบอกยาวเรียวคล้ายกับฝักของถั่วฝักยาว ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร ฝักเมื่อแก่จะบิดเวียนเป็นเกลียวเล็กน้อย เมื่อฝักแห้งจะแตกได้เป็นพู 2 พู หรือ 2 ซีก ภายในฝักมีแกนทรงกระบอกเล็ก ๆ ยาวเรียวซึ่งเป็นที่อยู่ของเมล็ด เมื่อฝักแห้งจะแตกออกและเมล็ดจะปลิวไปตามลม เมล็ดเป็นเมล็ดแห้ง แบน บาง และมีปีกเป็นเยื่อบาง ๆ สีขาว ยาวออกทางด้านข้าง ขอบปีกเสมอกับตัวเมล็ด และมีขนาดกว้างประมาณ 0.2-1.0 เซนติเมตร
ภาพจาก : vivatchaipicture.wordpress.com
สรรพคุณและประโยชน์ของปีบทอง
- ลำต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ลำต้นกาซะลองคำ, ต้นขางปอย, ต้นขางน้ำข้าว, ต้นขางน้ำนม, ต้นอวดเชือก) ใช้ฝนกับน้ำกินแก้ซาง (ลำต้น)
- ลำต้นใช้แก้ซางในเด็กที่มักจะมีเม็ดขึ้นในปากและลำคอ (ลำต้น)
- ช่วยแก้ลิ้นเป็นฝ้า (ลำต้น)
- ช่วยรักษาอาการปวดฟัน (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาลดไข้ (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการตัวร้อน (ลำต้น)
- ช่วยแก้อาเจียน (ลำต้น)
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำใช้อมแก้อาการเมายา (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)
- ลำต้นใช้เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องเดิน (ลำต้น)
- ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหรือพอกรักษาแผลสด แผลถลอก และช่วยห้ามเลือด (ใบ)
- เปลือกใช้เป็นยาใส่แผล (ไม่ได้บอกวิธีใช้)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อน (เปลือกต้น)
- สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pantip