เนระพูสีไทย สรรพคุณและประโยชน์

ต้นเนระพูสีไทย หรือ ว่านค้างคาวดํา จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 50-60 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกกอ หรือขุดเง่ามาทอนเป็นท่อน ๆ แล้วนำไปปักชำในที่ที่มีความชุ่มชื้น

เนระพูสีไทย สรรพคุณและประโยชน์

เนระพูสีไทย ชื่อสามัญ Bat flower, Black lily

เนระพูสีไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Tacca chantrieri André ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์กลอย (DIOSCOREACEAE)

สมุนไพรเนระพูสีไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คลุ้มเลีย ว่านหัวเลีย ว่านหัวลา ว่านหัวฬา (จันทบุรี), ค้าวคาวดำ มังกรดำ (กรุงเทพฯ), ดีปลาช่อน (ตราด), ม้าถอนหลัก (ชุมพร), ว่านพังพอน (ยะลา), นิลพูสี (ตรัง), ว่านนางครวญ (นครศรีธรรมราช), กลาดีกลามูยี (มลายู-ปัตตานี), ดีงูหว้า (ภาคเหนือ), เนระพูสีไทย (ภาคกลาง), เส่แหง่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ล่อเคลิน (ลั้วะ), เหนียบเลิน (ขมุ) แต่เรียกกันทั่วไปว่า ว่านค้างคาว หรือ ว่านค้างคาวดำ เป็นต้น

ลักษณะของเนระพูสีไทย

ต้นเนระพูสีไทย หรือ ว่านค้างคาวดํา จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 50-60 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกกอ หรือขุดเง่ามาทอนเป็นท่อน ๆ แล้วนำไปปักชำในที่ที่มีความชุ่มชื้น สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดปี เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นชื้น มีแสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในทางตอนใต้ของจีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว พม่า เวียดนาม และในชายฝั่งมาเลเซีย โดยจะพบขึ้นตามป่าเขา ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 50-1,000 เมตร (บ้างว่า 500-1,500 เมตร)

ใบเนระพูสีไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มีประมาณ 3-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้างหรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร เส้นแขนงของใบแตกออกจากเส้นกลางใบโค้งจรดกันเกือบถึงขอบใบ แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ และมีก้านใบยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร

ดอกเนระพูสีไทย ออกดอกเป็นช่อกลุ่ม ๆ ประมาณ 1-2 ช่อ มีความยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร ในแต่ช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 4-6 ดอก (มีมากสุดถึง 25 ดอกย่อย) แทงออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดินขึ้นมา ดอกเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม กลีบดอกมี 6 กลีบ โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน กลีบด้านนอก 3 กลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 3-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบด้านใน 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-12 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-11 มิลลิเมตร ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้สีเขียวหรือสีเหลือง ส่วนรังไข่มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และดอกยังมีใบประดับเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม 2 คู่ ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก ไม่มีก้าน ใบประดับคู่นอกมีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปไข่ หรือรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับคู่ในแผ่กว้างออก มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีด้วยกันหลายขนาด กว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-17 เซนติเมตร และมีใบประดับที่ลดรูปเป็นเส้นด้ายอีก 5-25 ใบ ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร เป็นสีเขียวหรือสีม่วง และกลีบดอกจะติดอยู่ไม่หลุดร่วงได้ง่าย

ผลเนระพูสีไทย ลักษณะของผลเป็นทรงสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปกระสวย ผลมีสันเป็นคลื่น 6 สันตามยาวของผล มีวงกลีบรวมที่ยังไม่ร่วงติด ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-2.3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีความหนาประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร

ภาพจาก siripa3herbal-tropical.fandom.com

สรรพคุณและประโยชน์ของเนระพูสีไทย

  1. ชาวเขาเผ่าแม้ว มูเซอ จะใช้ ราก ต้น ใบ เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือเคี้ยวกินเป็นยาบำรุงร่างกาย (ต้น, ใบ, ราก, เหง้า)
  2. เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยาบำรุงกำลัง (เหง้า)
  3. ช่วยแก้ธาตุพิการ (เหง้า)
  4. รากเนระพูสีไทย หรือเหง้าใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยา หรือนำใบสดมารับประทาน จะช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ, ราก, เหง้า) บ้างว่าเหง้ามีสรรพคุณช่วยทำให้อ้วน (เหง้า)
  5. ใช้เป็นยารักษามะเร็ง (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)
  6. เหง้าใต้ดินมีรสสุขม นำมาต้มหรือดองกับเหล้า ใช้ดื่มแก้ความดันโลหิตต่ำ (เหง้า)
  7. ช่วยบำรุงกำลังทางเพศ ด้วยการใช้เหง้านำมาต้มหรือดองกับเหล้าเป็นยาดื่ม (เหง้า)
  8. เหง้าใช้แก้ซางเด็ก (เหง้า)
  9. ช่วยดับพิษไข้ (เหง้า)
  10. แก้ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต และไข้ท้องเสีย (เหง้า)
  11. ช่วยแก้อาการไอ (เหง้า)
  12. ช่วยรักษาโรคในปากคอ (เหง้า)
  13. ช่วยแก้ลิ้นคอเปื่อย (เหง้า)
  14. ช่วยแก้ปอดพิการ (เหง้า)
  15. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : fca16mr