ต้นตะเคียนทอง สรรพคุณและประโยชน์

ต้นตะเคียนทอง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 20-40 เมตร วัดรอบได้ถึงหรือกว่า 300 เซนติเมตร ลักษณะของเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ กลม หรือเป็นรูปเจดีย์แบบต่ำ ๆ เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กะพื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน

ต้นตะเคียน สรรพคุณและประโยชน์

ตะเคียนทอง ชื่อสามัญ Iron wood, Malabar iron wood, Takian, Thingan, Sace, Takian

ตะเคียนทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)

สมุนไพรตะเคียนทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะเคียน ตะเคียนทอง ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง), จะเคียน (ภาคเหนือ), แคน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ไพร (ละว้า เชียงใหม่), กะกี้ โกกี้ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่), จูเค้ โซเก (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี), จืองา (มลายู-นราธิวาส) (บางข้อมูลระบุมีชื่ออื่นว่า กากี้, เคียน) เป็นต้น

ลักษณะของต้นตะเคียน

ต้นตะเคียนทอง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 20-40 เมตร วัดรอบได้ถึงหรือกว่า 300 เซนติเมตร ลักษณะของเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ กลม หรือเป็นรูปเจดีย์แบบต่ำ ๆ เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กะพื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นไม้ตะเคียนเป็นสีน้ำตาลแดง ลักษณะของไม้ตะเคียน เนื้อไม้เป็นสีเหลืองหม่นหรือสีน้ำตาลอมสีเหลือง มักมีเส้นสีขาวหรือเทาขาวผ่านเสมอ ซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยาง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลาง เสี้ยนมักสน ไม้แข็ง เหนียว ทนทาน และเด้งตัวได้มาก นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการผลิตกล้าจากเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความสูงประมาณ 130-300 เมตร และเป็นดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์และรายน้ำได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนใต้และทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียในแถบประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย โดยเป็นไม้ในป่าดงดิบที่มักขึ้นเป็นหมู่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบ หรือในที่ค่อนข้างราบใกล้ฝั่งแม่น้ำ[1] ตามป่าดิบใกล้ลำธาร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร

ใบตะเคียนทอง ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกหรือรูปดาบ ปลายใบเรียว ส่วนโคนใบมนป้านและเบี้ยว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีตุ่มหูดหรือตุ่มดอมเมเซียเกลี้ยง ๆ อยู่ตามง่ามแขนงของใบ ใบมีเส้นแขนงใบประมาณ 9-13 คู่ ปลายโค้งแต่ไม่จรดกัน เชื่อมใบย่อยเชื่อมกันเป็นขั้นบันได ส่วนหูใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม

ดอกตะเคียนทอง ออกดอกเป็นช่อยาวแบบช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งและตามง่ามใบ มีดอกย่อยอยู่ช่อละประมาณ 40-50 ดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองแกมสีน้ำตาลขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมและมีขนนุ่ม ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิดเป็นกงจักร มีขนาดของดอกประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร กลีบดอก 3-5 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ส่วนล่างกลีบบิดและเชื่อมติดกัน ดอกมีเกสรตัวผู้ 15 อัน อับเรณูมียอดแหลม ส่วนเกสรตัวเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ ลักษณะเรียวเล็ก มีความยาวเท่ากับรังไข่ เมื่อหลุดจะร่วงทั้งชั้นรวมทั้งเกสรตัวผู้ติดไปด้วย และดอกยังมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 5 กลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม แต่จะไม่ออกดอกทุกปี และช่วงที่ดอกออกมากจะมีประมาณ 3-5 ครั้งต่อปี

ผลตะเคียนทอง ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ผลเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อสุกจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่เกลี้ยง ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6 เซนติเมตร (มีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร) ปลายมนเป็นติ่งคล้ายหนามแหลม มีปีกยาว 1 คู่ ลักษณะเป็นรูปใบพาย ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ปลายปีกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และค่อย ๆ เรียวสอบมาทางด้านโคนปีก เส้นปีกตามยาวประมาณ 9-11 เส้น และยังมีปีกสั้นอีก 3 ปีกซ้อนกัน มีความยาวไม่เกินความยาวของตัวผลหรือยาวน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ปีกจะซ้อนกันอยู่ แต่จะหุ้มส่วนกลางผลไม่มิด โดยในหนึ่งผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมสีน้ำตาล โดยปลีกเหล่านี้จะมีหน้าที่ห่อหุ้มผลและสามารถพาผลให้ปลิวไปตามลมได้ไกลออกไปจากต้นแม่ และจะเป็นผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ที่มา arit.kpru.ac.th

สรรพคุณและประโยชน์ของตะเคียนทอง

  1. แก่นมีรสขมอมหวาน ช่วยแก้โลหิตและกำเดา (แก่น)
  2. ช่วยคุมธาตุ (เนื้อไม้) ปิดธาตุ (แก่น,ยาง)
  3. ช่วยแก้ไข้สัมประชวรหรือไข้ที่เกิดมาจากหลายสาเหตุ และมักมีอาการแสดงที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือขุ่นคล้ำ เป็นต้น (แก่น)
  4. แก่นไม้ตะเคียนใช้ผสมกับยารักษาทางเลือดลม กษัย (แก่น)
  5. ช่วยแก้อาการลงแดง (เปลือกต้น)
  6. ช่วยขับเสมหะ (แก่น)
  7. เปลือกต้นนำมาต้มกับเกลือ ใช้อมช่วยป้องกันฟันหลุดเนื่องจากกินยาเข้าปรอท (เปลือกต้น)
  8. ช่วยแก้อาการปวดฟัน แก้เหงือกบวม (แก่น)
  9. ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ (เปลือกต้น)
  10. ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปาก (เปลือกต้น)
  11. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)
  12. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (แก่น, เนื้อไม้)
  13. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ยาง)
  14. ช่วยห้ามเลือด (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
  15. ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : rbru