ฉัตรทอง สรรพคุณและประโยชน์

ต้นฉัตรทอง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 2.5 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวและตามลำต้นมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย จัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน

ฉัตรทอง สรรพคุณและประโยชน์

ฉัตรทอง ชื่อสามัญ Hollyhock

ฉัตรทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Alcea rosea L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Althaea rosea (L.) Cav.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)

สมุนไพรฉัตรทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซูขุย (จีนกลาง), จวกขุ่ยฮวย (จีน-แต้จิ๋ว) เป็นต้น

ลักษณะของต้นฉัตรทอง

ต้นฉัตรทอง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 2.5 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวและตามลำต้นมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย จัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน

ใบฉัตรทอง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันไปตามลำต้น แผ่นใบเป็นสีเขียว ลักษณะของแผ่นใบเป็นแฉกคล้ายรูปดาว ใบหนึ่งจะมีแฉกประมาณ 3-7 แฉก แต่โคนใบจะมีลักษณะเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ก้านใบมีลักษณะกลมยาวเป็นสีเขียว มีความยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร

ดอกฉัตรทอง ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ ลักษณะของดอกเป็นรูปถ้วย ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบเรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกเป็นสีชมพู สีแดง และสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมเข้าหากันเป็นหลอด ส่วนปลายดอกบานออก ส่วนเกสรกลางดอกเป็นสีเหลือง ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวลักษณะเป็นรูปถ้วยเช่นกัน โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน แต่ส่วนปลายกลีบนั้นจะแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ (บ้างว่ามีกลีบเลี้ยงประมาณ 7-8 กลีบ) มีก้านดอกยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร

ผลฉัตรทอง ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมและแบน ผลเมื่อโตจะมีจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต ผิวของเมล็ดมีรอยเส้นขวาง

ภาพจาก : medthai.com

สรรพคุณและประโยชน์ของฉัตรทอง

  1. รากและดอกใช้เป็นยาจับพิษร้อนในร่างกาย ทำให้เลือดเย็น (ราก, ดอก)
  2. รากและเมล็ดเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก, เมล็ด)
  3. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น (ดอก)
  4. ช่วยแก้โลหิตกำเดา (ราก, ดอก)
  5. ช่วยทำให้ชุ่มชื่น (ดอก)
  6. รากสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาและป้องกันโรคเยื่อจมูกอักเสบหรือเยื่อภายในร่างกายอักเสบได้ (ราก)
  7. หากมีไข้หรือเป็นไข้จับสั่น ก็ให้ใช้ดอกสดที่ผึ่งแห้งแล้ว นำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ ส่วนรากและเมล็ดในตำราได้ระบุไว้ว่ามีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้เช่นเดียวกับดอก (ดอก, ราก, เมล็ด)
  8. ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ราก, ดอก)
  9. ช่วยรักษาโรคหัด ด้วยการใช้ดอกที่บานเต็มที่แล้ว (สดหรือแห้งก็ได้) นำมาต้มกินหรือบดเป็นผงกิน (ดอก)
  10. ช่วยรักษาอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือตกเลือด ด้วยการนำรากสดประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากสดประมาณ 60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาก็ได้ หรือหากมีอาการตกเลือดก็สามารถใช้ดอกนำมาต้มรับประทานเป็นยาได้เช่นกัน (ดอก, ราก)
  11. ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ (ราก, ดอก)
  12. ใช้รักษาเด็กที่ปากเป็นแผลอักเสบ ด้วยการใช้ยอดอ่อนผสมกับน้ำผึ้ง นำมาทาเช้าเย็น โดยการนำไปปิ้งกับไฟให้แห้งแล้วให้เป็นผงเสียก่อน (ยอดอ่อน)
  13. ช่วยแก้บิด ขับถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ยอดอ่อนนำมาต้มกับน้ำรับประทาน แต่ต้องนำมาปิ้งกับไฟให้พอเหลืองเสียก่อน และให้ใช้ประมาณ 6-18 กรัม หรือจะใช้ดอกนำมาต้มรับประทานก็ได้ (ยอดอ่อน, ดอก)
  14. หากมีอาการท้องผูก ก็ให้ใช้ดอกสดประมาณ 30 กรัม นำมาผสมกับชะมดเชียง 1.5 กรัม กับน้ำอีกครึ่งแก้วใช้ต้มรับประทาน บ้างก็ว่าให้ใช้รากสด ๆ ผสมกับเมล็ดของตังเกี้ยงไฉ่ (อย่างละ 30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนเมล็ดก็แก้ท้องผูกเช่นกัน โดยนำมาเมล็ดมาต้มรับประทานหรือบดเป็นผงรับประทาน แต่จะต้องใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว (ดอก, เมล็ด, ราก)
  15. เมล็ดใช้เป็นยาช่วยหล่อลื่นลำไส้ ด้วยการใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว นำมาต้มรับประทานหรือบดเป็นผงรับประทาน ส่วนดอกตามตำราก็ระบุว่ามีสรรพคุณช่วยหล่อลื่นเช่นกัน (เมล็ด, ดอก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : instazu