คำไทย สรรพคุณและประโยชน์
คำไทย ชื่อสามัญ Anatto tree
คําไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Bixa orellana L. จัดอยู่ในวงศ์คำแสด (BIXACEAE)
สมุนไพรคำไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คำเงาะ คำแงะ คำแฝด คําแสด (กรุงเทพฯ), ซิติหมัก (เลย), แสด มะกายหยุม (ภาคเหนือ), ชาตรี (ภาคอีสาน), ชาด ดอกชาติ (ภาคใต้), หมากมอง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), จำปู้ ส้มปู้ (เขมร-สุรินทร์), คำยง ชาตี ชาดี (เขมร) เป็นต้น
หมายเหตุ : ต้นคำไทยในบทความนี้เป็นพันธุ์ไม้คนละชนิดกันกับต้นคําแสด ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mallotus philippensis Mull.arg. ที่จัดอยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE เนื่องจากทั้งสองชนิดมีชื่อท้องถิ่นที่เหมือนกันว่า “คําแสด” จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ หากต้องการอ่านบทความดังกล่าว ท่านสามารถอ่านได้ที่ คำแสด
ลักษณะของคำไทย
ต้นคำไทย หรือ ต้นคำแสด เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของอเมริกาตอนกลาง ต่อมาได้ขยายไปทางเหนือและใต้ เช่น เม็กซิโก บราซิล และกัวเตมาลา ก่อนจะถูกนำไปปลูกในประเทศที่มีอากาศร้อนทั่วโลก โดยต้นคําไทยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 3-8 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมหนาทึบ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และการตัดกิ่งเพื่อนำไปปักชำ สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณชื้นและตามป่าดิบแล้ง
ใบคำไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 11-18 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะบางนุ่ม ใบเป็นสีเขียวเหลือบแดง ส่วนใบอ่อนเป็นสีแดง
ดอกคำไทย ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 5-10 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวแกมชมพูหรือสีชมพูอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ยาว และมีกลีบรองดอกขนาดเล็กสีเขียว ดอกอ่อนจะมีลักษณะกลม ผิวสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากและมีเกสรเพศเมียอีก 1 ก้าน ที่รังไข่มีขนรุงรัง ภายในมีช่อง 1 ช่อง และมีไข่อ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก
ผลคำไทย ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายผลแหลม มีขนสีแดงคล้ายผลเงาะ ผลเมื่อแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก
เมล็ดคำไทย เมล็ดเป็นสีน้ำตาลแดง มีลักษณะกลม และมีเนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงหรือสีแสด
ภาพจาก : medthai.com
สรรพคุณและประโยชน์ของคำไทย
- ดอกใช้ปรุงเป็นยาหรือใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงโลหิตให้สมบูรณ์ (ดอก, ราก, เปลือกต้น, เมล็ด) และมีข้อมูลระบุว่ารากเป็นยาบำรุงเลือดลม (ราก)
- ดอกใช้ต้มกินเป็นยารักษาโรคโลหิตจาง (ดอก)
- หากความดันโลหิตสูง ให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ฝ่ามือต่อน้ำ 1 ลิตร นำมาต้มเป็นยาดื่มวันละ 3 เวลาจะช่วยลดความดันโลหิตได้ (เปลือกต้น)
- รากคําไทยมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก)
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
- ช่วยบำรุงประสาท บำรุงสมอง (ดอก)
- ใบนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้กษัย (ใบ)
- หมอพื้นบ้านจะใช้เมล็ดทำเป็นยารักษาอาการไข้ แก้ไข้ (เมล็ด)
- ใบหรือเปลือกรากใช้เป็นยาลดไข้ (ใบ, เปลือกราก)
- เมล็ดช่วยรักษาไข้มาลาเรีย ส่วนเปลือกรากช่วยป้องกันไข้มาลาเรีย (เมล็ด, เปลือกราก)
- เปลือกต้นและเมล็ดช่วยแก้ไข้ทับระดู (เปลือกต้น, เมล็ด)
- ช่วยระงับความร้อนภายในร่างกาย (ดอก)
- ช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)
- ช่วยรักษาริดสีดวงที่จมูก ด้วยการใช้ใบนำมาซอยแล้วตากแดดให้แห้ง นำมามวนเป็นยาสูบจะช่วยแก้ริดสีดวงจมูกได้ (ใบ)
- ใบช่วยรักษาอาการเจ็บคอ (ใบ)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : thaikasetsart