จอก สรรพคุณและประโยชน์
จอก ชื่อสามัญ Water lettuec
จอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Pistia stratiotes L. จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)
สมุนไพรจอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักกอก (เชียงใหม่), กากอก (ภาคเหนือ), ไต่ผู้เฟี้ย (จีน-แต้จิ๋ว), ต้าฝูผิง (จีนกลาง), จอกใหญ่ เป็นต้น
ลักษณะของต้นจอก
ต้นจอก จัดเป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็ก หรือเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นลอยและเจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ มีอายุยืนหลายปี ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำ ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีรากระบบรากแก้วและมีรากฝอยเป็นจำนวนมากออกเป็นกระจุกอยู่ใต้น้ำ สีขาว ลำต้นมีความสูงประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร ลำต้นมีไหล ต้นใหม่จะเกิดจากโคนต้นและเกิดบนไหล โดยต้นจอกเป็นพรรณไม้น้ำที่ชอบแสงแดดจัด ชอบน้ำจืด สามารถพบได้ตามลำคลอง หนองน้ำ นาข้าว และที่มีน้ำขัง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด หรือแตกไหล และวิธีการแยกต้นอ่อน
ใบจอก ใบเป็นเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับ เกิดบริเวณส่วนโคนของลำต้นเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ รูปร่างของใบมีลักษณะที่ไม่แน่นอน บางครั้งเป็นรูปรี รูปไข่กลับ รูปใบพัด แต่โดยมากเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบมนหยักลอนเป็นคลื่น ๆ ฐานใบมนสอบแคบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นสีแดง มีขนขึ้นปกคลุมแผ่นใบทั้งสองด้าน บริเวณฐานใบพองออกและมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ ทำให้สามารถลอยน้ำได้ ใบมีความยาวและความกว้างประมาณ 10-25 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบไม่มีก้านใบ
ดอกจอก ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงกลางต้น ตรงโคนใบระหว่างกลาง หรือออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกสั้นขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ดอกจะมีกาบห่อหุ้มดอกอยู่ประมาณ 2-3 ใบ เป็นแผ่นสีเขียวอ่อนหุ้มไว้ ด้านในเรียบ ส่วนด้านนอกมีขนละเอียดปกคลุม ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียที่แยกกันอยู่ แต่อยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะอยู่ด้านบนดอกส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ด้านล่าง ดอกจอกเป็นดอกที่ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ที่โคนดอกเพศผู้จะมีรยางค์แผ่นสีเขียวเชื่อมติดอยู่เป็นรูปถ้วย และมีเกสรเพศผู้ประมาณ 4-8 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียจะมีรยางค์เป็นแผ่นสีเขียวติดอยู่เหนือรังไข่
ผลจอก ผลมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ หรือเป็นผลเป็นชนิดแบคเดท (Bacdate) มีกาบหรือใบประดับสีเขียวอ่อนติดอยู่ ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-3 เมล็ด บ้างว่ามีจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะกลมยาว เปลือกเมล็ดจะมีรอยย่น
ภาพจาก : aroka108.com
สรรพคุณและประโยชน์ของจอก
- ใบมีรสขม เผ็ด และฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาฟอกเลือดให้เย็นได้ (ใบ)
- ช่วยขับความชื้นในร่างกาย (ใบ)
- ช่วยขับพิษไข้ (ใบ)ดอกจอก
- ช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
- ช่วยขับเสมหะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้หืด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้เป็นยาขับลม (ใบ)
- ช่วยแก้อาการบิด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)
- ใบสดใช้ต้มผสมกับน้ำตาลทราย (ใช้อย่างละ 120 กรัมต่อน้ำ 3 ถ้วย) แล้วต้มให้ข้นจนเหลือถ้วยเดียว ใช้รับประทานให้ได้ 3 ครั้ง เพื่อเป็นยาแก้ท้องมาน หรืออาการบวมน้ำ หรือจะใช้ใบแห้งประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาก็ได้เช่นกัน (ใบ)
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ปัสสาวะไม่คล่อง ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา (ใบ) บ้างระบุว่ารากเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)
- ช่วยรักษาโรคโกโนเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคหนองในแท้) (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นส่วนของใบ)
- ใบใช้เป็นแก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน และฝีหนองภายนอก (ใบ)
- ใบใช้เป็นยาแก้หัด แก้ผื่นคัน มีน้ำเหลืองได้ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 100 กรัม นำมาตากให้แห้งหรือผิงไฟให้แห้ง แล้วบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ด ทยอยกินให้หมดภายใน 1 วัน หรือจะใช้ใบแห้งต้มกับน้ำ นำมาอบผิว แล้วใช้น้ำยาที่ต้มได้มาล้างบริเวณที่เป็นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (ใบ)
- ใบสดใช้ผสมกับน้ำตาลกรวดดำ อุ่นให้ร้อน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่ได้รับการกระทบกระเทือน หรือมีอาการฟกช้ำดำเขียว จะช่วยแก้อาการบอบช้ำได้ หรือจะใช้ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : คลังสมุนไพร