คนทา สรรพคุณและประโยชน์

ต้นคนทา จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถาหรือเป็นไม้พุ่มเลื้อยทอดเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นจะมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล และมีหนามแหลมและสั้นตลอดทั้งลำต้นและตามกิ่งก้าน พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่จีนตอนใต้ลงไปถึงมาเลเซีย

คนทา สรรพคุณและประโยชน์

คนทา ชื่อวิทยาศาสตร์ Harrisonia perforata (Blanco) Merr. ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)

สมุนไพรคนทา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ตำตา (เชียงใหม่), หนามกะแท่ง (เลย), โกทา หนามโกทา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จี้ จี้หนาม หนามจี้ สีเตาะ สีเดาะ (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), คนทา (ภาคกลาง), กะลันทา สีฟัน สีฟันคนทา สีฟันคนตาย (ทั่วไป), มีซี, มีชี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

ลักษณะของคนทา

ต้นคนทา จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถาหรือเป็นไม้พุ่มเลื้อยทอดเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นจะมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล และมีหนามแหลมและสั้นตลอดทั้งลำต้นและตามกิ่งก้าน พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่จีนตอนใต้ลงไปถึงมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยมักพบขึ้นทั่วไปในป่าตามธรรมชาติ ทนความแห้งแล้งได้ดี พบมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือ โดยจะพบได้ตามที่โล่งในป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร และสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ด

ใบคนทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 11-15 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีแดง ก้านใบร่วมเป็นปีกแผ่ขยายออกแคบ ๆ และใบมีรสขม

ดอกคนทา ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ภายในมีแป้นดอก ดอกย่อยด้านนอกเป็นสีแดงแกมม่วง ส่วนด้านในเป็นสีนวล กลีบดอกและกลีบดอกมีกลีบอย่างละ 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน

ผลคนทา ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เบี้ยว และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบเนียนคล้ายแผ่นหนัง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อผลค่อนข้างแข็ง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร

ภาพจาก : dnp.go.th

สรรพคุณและประโยชน์ของคนทา

  1. ต้นเป็นยาฟอกโลหิต (ต้น)
  2. ช่วยขับโลหิต (ราก)
  3. เปลือกต้นหรือรากมีรสเฝื่อนขม ใช้ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ รักษาอาการไข้เพื่อเส้น ไข้เหนือ ไข้จับสั่น ไข้ตักศิลา ไข้พิษ ไข้กาฬ ดับพิษหัวไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ทุกชนิด (เปลือกต้น, ราก) ส่วนเปลือกรากมีสรรพคุณแก้ไข้ และต้นมีสรรพคุณแก้ไข้ได้ทุกชนิด (ต้น, เปลือกราก)
  4. ช่วยป้องกันอหิวาตกโรค (เปลือกราก)
  5. ทั้งต้นมีรสเฝื่อนขม ช่วยแก้กระหายน้ำ (ทั้งต้น)
  6. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ต้น, ราก)
  7. ใช้แก้ตาเจ็บ (ราก)
  8. เปลือกต้นนำมาทุบแล้วอมจะช่วยลดอาการปวดฟันได้ (เปลือกต้น)
  9. ช่วยขับลม (ราก)
  10. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)
  11. เปลือกต้นหรือรากใช้ต้มเป็นยากินรักษาอาการท้องร่วง (เปลือกต้น, ราก) ส่วนต้นและเปลือกรากก็ช่วยแก้ท้องร่วงได้เช่นกัน (ต้น, เปลือกราก)
  12. ช่วยแก้บิด (ต้น, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)
  13. เปลือกต้นหรือรากต้มกินเป็นยาแก้โรคทางเดินลำไส้ (เปลือกต้น, ราก) ส่วนเปลือกรากก็ช่วยรักษาลำไส้เช่นกัน (เปลือกราก)
  14. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ราก)
  15. ช่วยสมานบาดแผล (ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : dnp