โกฐน้ำเต้า สรรพคุณและประโยชน์
โกฐน้ำเต้า ภาษาอังกฤษ Rhubarb
โกฐน้ำเต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Rheum palmatum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)
สมุนไพรโกฐน้ำเต้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตั้วอึ้ง (จีน), ตั่วอึ๊ง (จีนแต้จิ๋ว), ต้าหวง (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของโกฐน้ำเต้า
ต้นโกฐน้ำเต้า เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบยุโรป ในประเทศอินเดีย จีน ทิเบต รัสเซีย โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มที่มีความสูงของต้นประมาณ 2 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านสาขามากและมีใบเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเรียบมัน มีลายเล็กน้อยและไม่มีขนปกคลุม มีเหง้าอยู่ใต้ดินขนาดป้อมและใหญ่ เนื้อนิ่ม ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นโพรงกลวงและมียางสีเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกลำต้น และวิธีการเพาะเมล็ด[
ใบโกฐน้ำเต้า ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ เป็นแฉกคล้ายนิ้วมือ มีประมาณ 3-7 แฉก มีขนาดกว้างและยาวใกล้เคียงกัน ใบมีขนาดประมาณ 35-40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อยเล็กน้อย หน้าใบและหลังใบมีขนขึ้นปกคลุม ก้านใบมีขนาดใหญ่และยาว ตรงบริเวณก้านใบมีขนสีขาวปกคลุมอยู่
ดอกโกฐน้ำเต้า ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งก้าน ดอกเป็นข้อ ๆ ในก้านช่อกิ่งหนึ่งจะมีประมาณ 7-10 ช่อ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ดอกย่อยจะแยกออกเป็นแฉก 6 แฉก ดอกมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้น 2 ชั้น ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9 ก้าน
ผลโกฐน้ำเต้า ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่คล้ายสามเหลี่ยม บริเวณเหลี่ยมจะมีเยื่อบาง ๆ หุ้มอยู่ ผลเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-10 มิลลิเมตร โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนสิงหาคม
ภาพจาก : samunpri.com
สรรพคุณและประโยชน์ของโกฐน้ำเต้า
- เหง้ามีรสขมและมีกลิ่นหอม ใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้ และตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ขับพิษร้อน ระบายความร้อน ขับพิษในร่างกาย ใช้ในผู้ป่วยที่มีระบบโลหิตร้อน (อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดกำเดา ตาแดง เหงือกบวม คอบวม) (เหง้า)
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยกระจายเลือดคั่ง (เหง้า)
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุให้เป็นปกติ ช่วยแก้ธาตุพิการ และคายพิษในธาตุ (เหง้า)
- เหง้าใช้แก้โรคตาแดงแสบร้อน แก้โรคในดวงตา (เหง้า)
- ช่วยแก้โลหิตกำเดา (เหง้า)
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (เหง้า)
- ใช้เป็นยาลดไข้และความร้อนในร่างกาย (เหง้า)
- ช่วยแก้อาการตัวเหลือง (เหง้า)
- ช่วยบำรุงกระเพาะอาหารและช่วยในการย่อยอาหาร (เหง้า)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เหง้า)
- ช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ช่วยขับของเสียตกค้างที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ (อาการท้องผูกจากภาวะร้อน ตัวร้อนจัด) หยางในระบบม้ามไม่เพียงพอ มีของเสียและความเย็นตกค้าง ทำให้เกิดอาการท้องผูก มีอาหารตกค้าง มีอาการปวดท้องน้อย ขับถ่ายไม่สะดวก และมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้บีบตัว (เหง้า)
- ใช้เป็นยาแก้อุจจาระและปัสสาวะไม่ปกติ (เหง้า)
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงงอก (เหง้า)
- แก้เลือดอุดตันหรือเลือดคั่ง ทำให้ประจำเดือนของสตรีมาไม่ปกติ (เหง้า)
- ช่วยแก้ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (เหง้า)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : medthai