ทรงผมของเด็กไทยสมัยโบราณ

ทรงผมของเด็กไทยสมัยโบราณ

เด็กไทยสมัยก่อนอาจจะมีอิสระวิ่งเล่นกันได้อย่างเสรี แต่สำหรับทรงผมแล้วพวกหนูๆ เขาไม่มีสิทธิ์เลือก เพราะเด็กไทยสมัยโบราณมีทรงผมภาคบังคับให้ทำแค่ 4 ทรงเท่านั้น ไม่ว่าจะจู้จี้แค่ไหนก็ไม่มีทางแต่งสวยเสริมหล่อกันได้มากกว่านี้

สี่ทรงบังคับ ทรงผมทรงแรกเป็นทรงที่ลูกหลานคนรวยในละครไทยแท้ทุกเรื่องต้องไว้กัน นั่นคือผมจุก คาดว่าที่ลูกคนรวย (ในละคร) ชอบทำเพราะทำแล้วดูสวยน่ารักดี แถมยังมีมวยให้เสียบปิ่นทอง เงิน นาก หรือคล้องพวงมาลัยได้ด้วย แต่ถ้าเป็นเด็กๆ ลูกคนจนที่ไม่มีเครื่องประดับมีค่า พ่อแม่ก็จะใช้ผ้ามัดไว้ หรือบางบ้านอาจจะถักเป็นเปียก่อนแล้วค่อยยกขึ้นไปขมวดมุ่นบนกระหม่อม ผมจุกจะได้อยู่นานไม่หล่นลงมารุงรัง

ทรงบังคับลำดับที่สองเรียกว่าผมแกละ โดยพ่อแม่จะโกนผมลูกออกเหลือไว้เป็นกระจุกที่เรียกว่าแกละ ส่วนจะเหลือกี่แกละนั้นไม่มีใครห้าม แล้วแต่คนโกนเองว่าจะเมตตาไว้ชีวิตเส้นผมกี่ปอย เด็กบางคนอาจมีสองแกละ สามแกละ หรือสี่แกละด้วยซ้ำไป ถ้าได้พ่อแม่ดีไซน์เก่งๆ

ผมทรงที่สามเรียกว่าผมโก๊ะ คนโกนจะเหลือผมอยู่แค่กระจุกเดียวตรงขวัญ (ส่วนโค้งของศีรษะ) ส่วนบริเวณอื่นจับโกนจนล้านเลี่ยนเตียนโล่งหมด

และทรงสุดท้ายเรียกว่าผมเปีย เป็นทรงที่ต่อเนื่องมาจากผมแกละและผมโก๊ะ พอผมปอยที่เหลือไว้นั้นยาวมากจนรุงรังทิ่มหน้าทิ่มตา พ่อแม่ก็จะจับมาถักเป็นหางเปียให้เรียบร้อย แล้วปล่อยให้แกว่งไกวเล่นลมตามการเคลื่อนไหวของเด็ก จะไม่จับไปขมวดเป็นจุกแบบผมจุก

การตัดสินใจว่าเด็กคนไหนจะทำผมทรงไหน คนโบราณใช้วิธีเสี่ยงทายโดยการหาดินมาปั้นตุ๊กตาเด็กไว้แกละ ผูกจุก ไว้โก๊ะ แล้วให้เด็กเลือกหยิบเอาเองว่าเจ้าตัวชอบทรงไหน แปลว่านั่นคือทรงที่ถูกโฉลกกับเด็กคนนั้น ตุ๊กตาพวกนี้ปั้นแค่หยาบๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาหรือบอกเพศว่าเป็นหญิงหรือชาย แต่คนที่เหนื่อยหนักที่สุดเห็นจะเป็นคนที่ทำตุ๊กตาแกละ เพราะจะต้องปั้นหลายตัวหน่อย คือทำเป็นตุ๊กตาหนึ่งแกละ สองแกละ สามแกละหรือจะสารพัดแกละก็ว่ากันไป เด็กจะต้องทำผมทรงที่ตัวเองเลือกไปจนกว่าจะถึงวัยโกนจุกเมื่ออายุ 11-12 ปี ถึงจะเปลี่ยนทรงได้

ขวัญกับทรงผม ผมไทยทุกทรงจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ จะต้องมีปอยผมเหลืออยู่ตรงส่วนที่เป็นขวัญ คนโบราณให้เหตุผลว่าขวัญคือที่สถิตวิญญาณของคน จึงต้องมีผมมาปกคลุมไว้เสมอ ไม่อย่างนั้นขวัญจะไม่มีที่อยู่และอาจหนีไปที่อื่น ทำให้เด็กไม่สบายหรืออาจถึงตายได้ แม้แต่ตอนโกนผมไฟเมื่อเด็กอายุได้ 1 เดือน หรือเด็กเป็นเหาต้องโกนผมทิ้งทั้งศีรษะ ผมตรงขวัญก็ยังเป็นสิ่งที่จะแตะต้องไม่ได้ ต้องเก็บรักษาไว้เหมือนเดิม

ความเชื่อของไทยข้อนี้ตรงกับชาวอินเดีย คนอินเดียเรียกบริเวณขวัญว่า "พรหมรันทร" เพราะถือว่าเป็นทางที่อาตมันหรือวิญญาณของคนเราจะเข้า-ออก เวลาคนเจ็บใกล้ตาย พวกโยคีจะทุบขม่อมบริเวณขวัญให้แตก เพื่อช่วยให้วิญญาณหลุดพ้นออกไปจากร่างได้สะดวก คนเจ็บจะได้หมดทุกข์

ส่วนในศาสนาพราหมณ์ เทพเจ้าพราหมณ์แทบทุกองค์จะไว้ผมยาวขมวดมุ่นเป็นมายกลางศีรษะ ศิษยานุศิษย์ในศาสนาพราหมณ์ทั้งหลายจึงต้องให้ลูกหลานทำมวยกลางศีรษะบ้าง คล้ายการใส่ยูนิฟอร์มบริษัทให้เทพเห็นว่าเด็กพวกนี้ขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นพนักงานในสังกัดของเทพเจ้า เทพจะได้เอ็นดูประทานพรให้และช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย

คนไทย พ.ศ.นี้อาจจะคิดว่ามีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่ไว้ผมแกละหรือผมโก๊ะ แต่ที่จริงผมทั้ง 4 ทรงนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับเพศใดโดยเฉพาะ ถ้าเด็กผู้หญิงเลือกหยิบตุ๊กตาแกละหรือโก๊ะ ก็ต้องไว้ผมทรงนั้นไปจนกว่าจะโตเหมือนกัน

ขอขอบคุณ ที่มา : spicy ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

airban-300x250
0
Shares