“ไลน์คอนซูเมอร์” เขย่าโครงสร้างใหม่ รับพฤติกรรม-เทรนด์ตลาดเปลี่ยน ลุยโฟกัส 2 ธุรกิจครีเอเตอร์ และธุรกิจโทร.ด้วยเสียง พร้อมแตกฟีเจอร์บริการใหม่เพียบ ทั้ง NFT เสียงรอสายตามรายชื่อเพื่อน หรือดูดวงผ่านวิดีโอ
นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ลากยาวต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี ทำให้ผู้บริโภคไทยคุ้นชินกับการใช้อินเทอร์เน็ตและออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยปี 2564 มียอดผู้ใช้ไลน์ทั้งสิ้น 50 ล้านราย เพิ่มจากสิ้นปี 2563 ที่มียอดผู้ใช้ 47 ล้านราย
ขณะที่ทิศทางธุรกิจกลุ่ม LINE Cosumer Business ปีนี้ได้ปรับโครงสร้างใหม่เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มธุรกิจด้านครีเอเตอร์ (LINE Creators Business) และกลุ่มธุรกิจบริการภายใต้การโทร.ด้วยเสียง (VOIP Business)
จากเดิมที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ LINE Melody, LINE ดูดวง และ LINE Stickers ซึ่งปีที่ผ่านมาถือว่ามีอัตราการเติบโตที่ดี
ในส่วนของแผนธุรกิจด้านครีเอเตอร์ (LINE Creators Business) เตรียมจะผลักดันให้ครีเอเตอร์ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านรายมาต่อยอดธุรกิจและบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มโดยเฉพาะการสร้างสรรค์ commercial arts ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง licensing IP business ที่ปัจจุบันมีครีเอเตอร์ที่เข้าสู่รูปแบบนี้กว่า 28 ราย
และ NFT (nonfungible tokens) ซึ่งจะดำเนินการผ่านโปรแกรมพัฒนาครีเอเตอร์ใหม่ที่จะส่งเสริมครีเอเตอร์ในทุกช่วงการเติบโต พร้อมกับการจัดตั้ง LINE Creators Academy เพื่อสร้างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ NFT ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูงสำหรับครีเอเตอร์ที่สนใจ
“ที่ผ่านมายอดการเติบโตของกลุ่ม LINE Stickers ค่อนข้างนิ่งเพราะฐานผู้ใช้งานใหญ่ขึ้น แต่โควิดก็กระตุ้นให้เกิดการใช้ LINE Stickers เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดครีเอเตอร์ค่อนข้างแข็งแรงและออกแบบสติ๊กเกอร์ที่ตรงกับสถานการณ์ โดนใจผู้ใช้งานในไทย ทำให้มียอดการใช้เพิ่มขึ้น ดังนั้น ปีนี้จึงโฟกัสและต่อยอดตัวครีเอเตอร์มากขึ้น”
นายนรสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการทำ NFT นั้นเราจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แก่แบรนด์หรือเอเยนซี่ที่สนใจจะสร้าง NFT คอลเล็กชั่นที่ตรงกับลูกค้าที่มีความต้องการ หรือหากครีเอเตอร์ต้องการจะออก NFT คอลเล็กชั่นพิเศษเราก็จะทำหน้าที่ในการดีลกับ NFT Marketplace ให้
ซึ่งปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์หลายรายทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น East NFT, Bitkub NFT, Coral NFT, Zixel by Zipmex รวมถึงโดชิ (Dosi) แพลตฟอร์มระดับโกลบอลของเกาหลี ซึ่งเตรียมจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้
“ตลาด NFT คือการผสมผสานระหว่าง commercial arts กับคริปโตเคอร์เรนซี ถือเป็นของใหม่ในตลาดไทย ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้ต้องสร้างการรับรู้ทั้งในส่วนของผู้ใช้ แบรนด์ ซึ่งการประกาศตัวในตลาดของไลน์ครั้งนี้เพราะต้องการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้สนใจครีเอเตอร์ว่า ถ้าต้องการออก NFT ให้นึกถึงบริการของ LINE Creators”
ถัดมากลุ่มธุรกิจบริการภายใต้การโทร.ด้วยเสียง (VOIP Business) ซึ่งต่อยอดมาจากความสำเร็จของการใช้ LINE VDO Call ที่มียอดผู้ใช้งาน 22 ล้าน เพิ่มจากปี 2563 ที่มียอดการใช้อยู่ที่ 17 ล้าน และบริการ LINE Call ที่มียอดการใช้ 34 ล้านจากปี 2563 ที่มียอดการใช้ 28 ล้านราย
โดยมี 2 บริการย่อยอยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้ คือ LINE Melody ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 2.2 ล้านคน มีคลังเพลงทั้งสิ้นกว่า 38,000 เพลง จาก 43 พาร์ตเนอร์ ซึ่งปีนี้เตรียมจะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น บริการ Assigning By Friends หรือสามารถระบุเสียงรอสายได้ตามรายชื่อของเพื่อนในไลน์
และมีแผนจะขยายฐานผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นไปในส่วนของผู้ชื่นชอบเพลงลูกทุ่ง เนื่องจากฐานผู้ใช้งานหลักของ LINE Melody ปัจจุบันเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 20-34 ปี แบ่งเป็นผู้หญิง 69% และผู้ชาย 31%
อีกส่วนคือ LINE ดูดวง ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 3 ล้านคนต่อวัน ซึ่งมีบริการออนไลน์ที่ครอบคลุมตั้งแต่ขอพร แก้บน ตักบาตร ทำสังฆทาน
อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะเพิ่มบริการดูดวงออนไลน์จากนักพยากรณ์เพิ่มขึ้น ซึ่ง LINE ดูดวง จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน สามารถกดจอง จ่ายเงิน และเข้ารับบริการดูดวงได้ผ่าน VDO Call โดยจะแบ่งรายได้ระหว่างนักพยากรณ์กับแพลตฟอร์มไลน์
นายนรสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า การเข้ามารับตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ถือว่ามีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้น และเชื่อว่าจะมีการซินเนอร์ยี่ธุรกิจในเครือมากขึ้น ทั้งในส่วนของคอนเทนต์ บริการ ไอเดีย และพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ รวมถึงคาดว่ามีแผนจะลอนช์โปรดักต์ระดับโกลบอลและโลคอลใหม่ออกมามากขึ้นในปีนี้ด้วย
อ่านข่าวต้นฉบับ: “ไลน์คอนซูเมอร์” ปรับใหญ่ โฟกัส 2 ธุรกิจเตรียมออก NFT