ต้องยอมรับการกลับมาใช้มาตรการเข้าประเทศแบบ Test & Go อีกครั้งเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ตรวจ RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 ในวันแรกที่เดินทางมาถึง และครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 นั้นนับเป็นอุปสรรค สำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งในเรื่องความไม่สะดวก และต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงปัญหาการเข้าลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass, Thailand Pass Hotel และการโหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ที่ยังมีประเด็นปัญหา ทำให้ตัวเลขจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำ
เลิก Thailand Pass-PCR มี.ค.
โดยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มสมาคมท่องเที่ยวจำนวน 20 องค์กร อาทิ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมภาคใต้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระนอง สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ฯลฯ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศโดยเร่งด่วนทันทีใน 4 เรื่องหลัก
ประกอบด้วย 1.งดการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 เนื่องจากอัตราการติดเชื้อของนักท่องเที่ยวในวันที่ 5 น้อยกว่าการติดเชื้อในท้องถิ่น ณ ปัจจุบัน และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่นักท่องเที่ยว 2.ปรับลดการกักตัวของผู้ติดเชื้อจากเดิม 10 วันเหลือ 5 วัน 3.ยกเลิกมาตรการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่หากตรวจหาเชื้อแล้วเป็นลบในวันแรก และ 4.ปรับลดวงเงินประกันการเดินทางจาก 50,000 เหรียญสหรัฐ เหลือ 25,000 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังขอให้พิจารณาประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในเดือนมีนาคมนี้ ตามแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกได้เริ่มดำเนินการ และยกเลิกมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าประเทศ ทั้งการขอ Thailand Pass และการตรวจ RT-PCR (ครั้งที่ 1) เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาประเทศไทยได้อย่างสะดวก และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดมากที่สุด
โดยส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ยันติดเชื้อจาก ตปท.ต่ำ
โดยระบุว่า สถิติการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เดินทางเข้าประเทศแล้วกว่า 78,793 ราย อัตราการติดเชื้อของผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำและสามารถบริหารจัดการได้
ยกตัวอย่าง เช่น ตั้งแต่วันที่ 1-13 กุมภาพันธ์ จังหวัดภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อจากนอกประเทศคิดเป็นร้อยละ 2.84 แบ่งเป็นผลบวกจากการตรวจครั้งที่ 1 ร้อยละ 2.17 และผลบวกจากการตรวจครั้งที่ 2 ร้อยละ 3.56 ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งหมดเป็นผู้ป่วยสีเขียว ไม่ได้สร้างภาระ หรือกดดันระบบสาธารณสุขแต่เพียงอย่างใด และพบอัตราการตายที่ต่ำมาก ซึ่งใกล้เคียงกับการป่วยเป็นโรคหวัด
หลายประเทศเลิกคุมโควิดแล้ว
ที่สำคัญ หลายประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เช่น สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 เกือบทั้งหมดแล้ว อาทิ ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ยกเลิกการกักตัว ฯลฯ
เช่นเดียวกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้ทยอยปรับมาตรการการเดินทางเข้าแล้วเช่นกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกการตรวจโควิดเมื่อเดินทางมาถึงตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 คงเหลือเพียงแต่การแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนและการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง 48 ชั่วโมง
กัมพูชา ได้ปรับการตรวจที่สนามบินเป็นการตรวจด้วย ATK สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว และต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนครบโดสและการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง
หรือ ออสเตรเลีย ที่ได้ยกเลิกมาตรการการกักตัว โดยตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ทุกคนที่ได้รับวัคซีนครบสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยแสดงเอกสารการตรวจ RT-PCR เป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคู่แข่งด้านการท่องเที่ยว เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น ก็เตรียมประกาศยกเลิกมาตรการการเดินทางในเดือนเมษายนนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการของประเทศต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวบนเวทีโลก กล่าวคือนักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางไปยังประเทศที่ไม่มีมาตรการใด ๆ มากกว่าการเดินทางมาประเทศไทย
แนะเร่งทำการตลาดล่วงหน้า
ไม่เพียงเท่านี้ ในเดือนเมษายนที่จะมาถึงนี้ยังเป็นเดือนสำคัญของการท่องเที่ยวของโลก เนื่องจากจะมีเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะนิยมเดินทางพักผ่อนในช่วงวันหยุดเทศกาลนี้
ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของประเทศไทย และเป็นโค้งสุดท้ายของฤดูกาลท่องเที่ยว ภาคเอกชนจึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดทำแผนการตลาดเพื่อเปิดประเทศเต็มรูปแบบอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดและพื้นที่สื่อ
ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลทำการสื่อสารล่วงหน้าเพื่อให้บริษัทนำเที่ยวในประเทศต่าง ๆ จัดทำโปรแกรมกระตุ้นการขาย และเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เลือกเดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยยังยืนหยัดเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของโลก
ศปก.กก.จ่อเลิก PCR#2 1 มี.ค.
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวฯได้เตรียมนำเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ให้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศอีกครั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้
เบื้องต้นจะขอให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณายกเลิกมาตรการการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการเดินทาง และเปลี่ยนไปใช้การตรวจโดย ATK แทน โดยคาดว่าเริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 นี้เป็นต้นไป
โดยที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) เมื่อวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำเสนอผ่อนคลายมาตรการการเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go โดยนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้คงการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 1 ในวันแรกที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงไว้ แล้วยกเลิกการทำ RT-PCR Test ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการเดินทาง โดยเปลี่ยนเป็นการตรวจโดย ATK และรายงานผลผ่านแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ”
“ท่านปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้นำเสนอผลการประชุมดังกล่าวไปพิจารณาต่อในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ศปก.ศบค. ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ จากนั้นจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ใหญ่พิจารณาต่อไป ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เพื่อให้เริ่มใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 นี้เป็นต้นไป”
เตรียมเปิดด่านทางบก 7 จังหวัด
แหล่งข่าวยังเปิดเผยอีกว่า นอกจากแผนเสนอให้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศแล้ว ที่ประชุมยังหารือร่วมกันเพื่อวางแนวทางเตรียมเปิดด่านทางบกพร้อมกัน 7 จังหวัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 นี้ด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย หนองคาย อุดรธานี สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล และเตรียมความคืบหน้าการเปิดด่านทางน้ำ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางเรือยอชต์ในพื้นที่พัทยา (ชลบุรี) และภูเก็ต
โดยมาตรการการเปิดด่านทางบกนั้นจะเป็นรูปแบบเดียวกับ Test & Go ของการเดินทางทางอากาศ กล่าวคือยังต้องตรวจ RT-PCR ครั้งแรกในวันที่เดินทางมาถึง เมื่อผลเป็นลบจึงสามารถเดินทางท่องเที่ยวต่อไปในทุกพื้นที่ได้
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการเดินทางแบบวันเดียวกลับ หรือ one day trip ซึ่งรูปแบบนี้ช่วงแรกจะกำหนดให้เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว และใช้การตรวจ ATK แบบโปรเฟสชั่นนอลบริเวณหน้าด่าน เนื่องจากเป็นการเดินทางเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น
อ่านข่าวต้นฉบับ: 20 สมาคมท่องเที่ยว บี้รัฐเลิก Thailand Pass-PCR มี.ค.นี้