เปิดประวัติ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ผู้ครอบครองเพชรสะเทือนสัมพันธ์ไทย

ทำความรู้จัก เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด โอรสองค์โตในกษัตริย […] อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดประวัติ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ผู้ครอบครองเพชรสะเทือนสัมพันธ์ไทย

ทำความรู้จัก เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด โอรสองค์โตในกษัตริย์ฟาฮัด ผู้บุกเบิกวงการกีฬาซาอุดิอาระเบีย ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมานฯ มกุฎราชกุมาร ซาอุดีอาระเบีย ผู้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ ฟื้นความสัมพันธ์ไทยในรอบ 30 ปี 

วันที่ 24 มกราคม 2565 สื่อต่างประเทศหลายสำนักให้ความสนใจการประกาศเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของเจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร ซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 25-26 มกราคมนี้ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองชาติเป็นครั้งแรกรอบ 30 ปี

ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับไทยสะบั้นลง มาตั้งแต่ปียุค 1990 หลังเกิดกรณีอื้อฉาวแรงงานไทยขโมยอัญมณีล้ำค่าจากวังที่ประทับของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด (Faisal bin Fahd Al Saud) พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีฟาฮัดแห่งซาอุดิอาระเบีย

เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด Photo by AFP

สำหรับเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด ประสูติเมื่อปี 1945 เป็นพระราชโอรสองค์โตในกษัตริย์ฟาฮัดแห่งซาอุดิอาระเบีย และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูด กษัตริย์รัชกาลแรกแห่งซาอุดีอาระเบีย พระองค์เป็นโอรสองค์โตและเป็นหนึ่งในพระราชโอรสทั้ง 5 พระองค์ที่ประสูติจาก อัล อานูด บินต์ อับดุลอาซิซ บิน มูซาอิด อัลซาอูด พระชายาองค์แรกของกษัตริย์ฟาฮัด

เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ถือเป็นเจ้าชายซาอุดิอาระเบียกลุ่มแรกๆ ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากต่างประเทศ โดยพระองค์สำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคฟอร์เนียซานตาบาร์บารา เมื่อปี 1971 ทันทีที่จบการศึกษาเจ้าชายไฟซาล เข้าทำงานแรกในตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟันดาบแห่งซาอุดิอาระเบีย

กระทั่งจากนั้นพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสหพันธ์สมาคมฟุตบอลแห่งซาอุดิอาระเบีย เดือนกรกฎาคม 1975 พระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสวัสดิการเยาวชน หน่วยงานซึ่งต่อมาได้รับการยกระดับเทียบเท่ากับกระทรวงกีฬา ซึ่งพระองค์ยังถือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคมและการกีฬาคนแรก ในปี 1975 เดียวกันนี้พระองค์ยังรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการโอลิมปิกแห่งชาติซาอุดิอาระเบียด้วย

เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด Photo by AMR NABIL / AFP

ในแง่พระราชจริยวัตรของเจ้าชายไฟซาล ถือว่าต่างจากบรรดาพี่น้องเจ้าชายองค์อื่นๆ ที่ให้ความสนใจด้านธุรกิจ ขณะที่เจ้าชายไฟซาลทรงให้ความสนใจเรื่องการกีฬามากกว่า ด้วยความที่พระองค์ดำรงตำแหน่งสำคัญด้านกิจการกีฬาของประเทศหลายตำแหน่งรวมถึงประธานสหภาพฟุตบอลอาหรับ ทำให้พระองค์ดำริต่อตั้ง ลีกการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนของกลุ่มอาหรับในลักษณะที่คล้ายกับลีกการแข่งฟุตบอลของฝั่งยุโรป ภายใต้ชื่อ Prince Faisal bin Fahd League U-21 ถือเป็นการแข่งฟุตบอลรูปแบบลีกครั้งแรกของประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1975

ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Prince Faisal Bin Fahad Cup คุณูปการด้านยกระดับการกีฬาของซาอุดิอาระเบีย ยังก่อให้เกิดรางวัล Prince Faisal Bin Fahad ที่มอบเงินรางวัลสูงสุดถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นเกียรติและสนับสนุนการวิจัยที่ยกระดับวงการกีฬาของประเทศ พระนามของพระองค์ยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสนามกีฬา Prince Faisal bin Fahd Stadium สเตเดียมขนาดใหญ่กลางกรุงริยาดซึ่งจุผู้ชมได้ถึง 20,000 ที่นั่ง

แม้กษัตริย์ฟาฮัด พระราชบิดาของพระองค์จะดำรงตำแหน่งประมุขระหว่างปี 1982 กระทั่งสวรรคตปี 2005 แต่เจ้าชายไม่ได้มีสถานะเป็สรัชทายาทแต่อย่างใด โดยมกุฏราชกุมารผู้สืบบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์ฟาฮัดคือผู้เป็นอาของพระองค์ ซึ่งต่อมาคือกษัตริย์อับดุลลาห์

เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด Photo by SONIA / AFP

ปี 1999 เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด สิ้นพระชนม์ด้วยอายุ 54 ชันษา ขณะเข้ารักตัวในห้องผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาล King Faisal Specialist ในกรุงริยาด ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน รายงานจากสำนักข่าวเอพีระบุว่า เจ้าชายเริ่มมีพระอาการป่วยขณะประทับพักร้อนในต่างประเทศ โดยพระองค์มีพระชายาหนึ่งองค์ และมีพระโอรสสององค์ และพระธิดาสามองค์

หลังการสิ้นพระชนม์ สถานีโทรทัศน์ซาอุดิอาระเบียมีเพียงการประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์เท่านั้น แต่ไม่ได้มีการถ่ายทอดสดพิธีอ่านอัลกุรอานตามธรรมเนียมของประเทศ ในเวลานั้นกษัตริย์ฟาฮัด พระราชบิดาของพระองค์กำลังอยู่ระหว่างประทับพักร้อนในประเทศสเปน แต่พระองค์ไม่สามารถเสด็จกลับมาร่วมพิธีศพพระโอรสได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านสุขภาพ พระศพถูกฝั่งที่มัสยิดอิหม่าม ตุรกิ บิน อับดุลเลาะห์ ในริยาดเมื่อ 24 สิงหาคม 1999 ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ และนักการเมืองระดับผู้นำประเทศและผู้นำรัฐบาลจากชาติอาหรับใกล้เคียงที่ต่างเดินทางมาร่วมพิธี

ไม่ปรากฏชัดเจนนักว่าเจ้าชายไฟซาล ครอบครองพระราชทรัพย์มากน้อยเพียงใด แต่หากอ้างอิงจากกษัตริย์ฟาฮัด พระราชบิดา พระองค์ถือเป็นบุคคลที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดผู้หนึ่งของโลกในขณะนั้น จากประมาณการของนิตยสารฟอร์จูนเมื่อปี 1988 กษัตริย์ฟาฮัดมีราชทรัยพ์ถึง 18,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นบุคคลผู้รวยที่สุดอันดับสองของโลกในขณะนั้น ขณะที่ฟอร์บส์ประเมินความมั่งคั่งของกษัตริย์ฟาฮัดไว้ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2002

อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดประวัติ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ผู้ครอบครองเพชรสะเทือนสัมพันธ์ไทย