มียุคหนึ่งที่เชื่อกันว่า การไม่อวดอ้างสรรพคุณจนเกินงาม แต่รอให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ คือ เคล็ดลับแห่งความสำเร็จ แต่ความเชื่อนั้นดูจะใช้ไม่ได้กับสังคม “เทคสตาร์ตอัพ” ในซิลิคอนวัลเลย์ ที่การ over promise กลายเป็นแนวปฏิบัติทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ตอัพหน้าใหม่ที่ยังไม่มีสินค้าเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ขายฝัน (ที่มักอ้างว่าเป็น “วิสัยทัศน์เปลี่ยนโลก”) ไปก่อน ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่นั้นค่อยว่ากัน
เคสของ “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” แห่ง Theranos คือ ตัวอย่างที่ดีของเทคสตาร์ตอัพ ที่ over promise แต่ under deliver สุดท้ายจบที่โดนข้อหาฉ้อโกงไปในที่สุด
ในยุคเฟื่องฟู Theranos ดึงเม็ดเงินลงทุนได้มหาศาลจนมีมูลค่าเฉียดหนึ่งหมื่นล้านเหรียญ ทั้งที่ไม่มีสินค้าเป็นตัวเป็นตน มีแต่ “วิสัยทัศน์” ของเอลิซาเบธ ที่บอกว่าเจ้าอุปกรณ์ที่เธอกำลังซุ่มพัฒนาอยู่สามารถตรวจโรคได้สารพัดจากการตรวจเลือดเพียงไม่กี่หยด
ตอนนั้นเอลิซาเบธได้รับการแห่แหนว่าเป็นไอดอลดวงใหม่แห่งวงการเทคสตาร์ตอัพ เป็น “สตีฟ จ็อบส์” เวอร์ชั่นผู้หญิงที่ชาญฉลาด พูดจาฉะฉาน เปี่ยมไปด้วยภาวะผู้นำ แถมเคยเป็นถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างสแตนฟอร์ด แต่เรียนได้แป๊บเดียวก็ลาออกมาทำ “ความฝัน” ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมเฮลท์เทคให้เป็นจริงเพื่อมวลมนุษยชาติ
ตอนนั้นไม่ว่าเอลิซาเบธจะพูดอะไร คนก็พร้อมเชื่อ รวมถึงบรรดานักลงทุนชั้นนำของโลกก็พลอยต้องมนต์สะกดกำเงินมาทุ่มใส่สตาร์ตอัพของเธออย่างไม่บันยะบันยัง
โชคดีที่มีนักข่าวจากวอลล์สตรีต เจอร์นัล ที่เกิดเอะใจขึ้นเสียก่อน นำไปสู่การเปิดโปงคดีลวงโลกระดับสะท้านวงการเทค
สำหรับคนนอกวงการอาจมองว่า เคสนี้เป็นเพียงเรื่องชวนหัวที่คนฉลาด ๆ หลายต่อหลายคนดันหลงเชื่อคำพูดของเด็กสาวที่ลาออกจากมหาวิทยาลัยมาก่อตั้งบริษัทตอนอายุแค่ 19
แต่คนที่เกาะติดวงการเทคมานานมองว่า คดี Theranos คือ การเปิดเปลือยให้เห็นถึงความฟอนเฟะในสังคมซิลิคอนวัลเลย์ ที่ให้ค่ากับการ “fake it until you make it” แม้ฟังดูดี คล้ายอยากกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่อย่าหยุดพยายามจนกว่าจะทำความฝันให้กลายเป็นจริง แต่ “การเฟกให้สุดจนกว่าจะทำได้จริง” นี้ เป็นการบ่มเพาะ และเปิดช่องให้เกิดมหกรรมลวงโลกขนานใหญ่เช่นในกรณี Theranos เช่นกัน
เพราะสำหรับสังคมซิลิคอนวัลเลย์ การ over promise เป็นเรื่องปกติ ยิ่งผู้ก่อตั้งคนไหนมีบุคลิกมั่นอกมั่นใจ มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี แถมพกด้วยการมีวาทศิลป์ก็ยิ่งมีโอกาสโน้มน้าวใจนักลงทุนให้ “ซื้อ” ไอเดียอันสุดแสนบรรเจิดของตัวเองได้ง่ายขึ้น โดยเชื่อกันว่า เทคโนโลยีที่ดี คือ เทคโนโลยีที่มี “คอนเซ็ปต์” ที่ถูกต้องและมาจากคนที่ “ใช่”
ความทะเยอทะยานไม่ใช่เรื่องผิด พอ ๆ กับการกล้าฝัน และการกล้าคิดนอกกรอบ หากไม่มีคนที่กล้าคิด กล้าทำ โลกเราคงไม่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นมากมายอย่างทุกวันนี้
ปัญหา คือ ความมั่นใจต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่พันกับชีวิตคนมากมายอย่าง “เฮลท์เทค”
“เอลิซาเบธ” คือ ตัวอย่างของคนที่มีคุณสมบัติครบทุกข้อของการเป็นขวัญใจซิลิคอนวัลเลย์ แต่มาตกม้าตายเพราะต่อให้ “เฟก” เก่งแค่ไหน ความจริงก็คือความจริง คดีนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าค่านิยมการ fake it until you make it ของซิลิคอนวัลเลย์ กำลังบ่อนทำลายวงการเทคไปเรื่อย ๆ มันปล่อยให้คนอย่างเอลิซาเบธลอยนวลจนปั้นสตาร์ตอัพโนเนมของเธอให้กลายเป็น “ยูนิคอร์น” ชนิดที่แทบไม่มีการตรวจสอบใด ๆ เลย
นอกจากนี้ การที่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ คือ อาวุธลับที่เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายทางธุรกิจ จะปล่อยให้หลุดลอดเข้าหูเข้าตาคู่แข่งไม่ได้เด็ดขาด ทุกอย่างเลยดูเป็นความลับเสียหมดในแวดวงเทคสตาร์ตอัพ ยิ่งทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยากขึ้นไปอีกจึงไม่แปลกที่เวลานักข่าวซักไซ้รายละเอียดของ “เทคโนโลยี” เปลี่ยนโลกของ Theranos ทีไร “เอลิซาเบธ” จะอ้างว่าเปิดเผยรายละเอียดมากไม่ได้เพราะเป็นความลับทางธุรกิจ
วัฒนธรรมแห่งความลับนี้ยังนำมาสู่การปิดปากพนักงานขนานใหญ่ ผ่านการเซ็นข้อตกลงในการรักษาความลับของบริษัท โดยเฉพาะเทคสตาร์ตอัพ ที่มีกฎเข้มงวดในการควบคุมไม่ให้พนักงานเปิดเผยข้อมูลใด ๆ แก่บุคคลภายนอก แม้จะเป็นเรื่องฉ้อฉลหรือผิดกฎหมายของบริษัทก็ตาม
อดีตพนักงานของ Theranos เปิดเผยกับสื่อว่า บริษัทจ้างทีมทนายความมือดี ราคาแพง มาคอยกดดันพนักงานอย่างหนักเพื่อไม่ให้ปล่อยข้อมูลที่จะกระทบกับชื่อเสียงของบริษัท ซึ่ง “คอรี ไครด์เดอร์” จาก Foxglove ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือ whistle-blowers บอกว่า บริษัทเทคสตาร์ตอัพมักใช้วิธีขู่พนักงานให้หวาดกลัวและทำให้พวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิตามกฎหมายในการร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ ได้
แม้เอลิซาเบธจะโดนตัดสินว่ามีความผิดไปแล้ว ส่วน Theranos ก็ล้มละลายกลายตำนานแห่งความอื้อฉาวประจำวงการ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ค่านิยม fake it until you make it ยังดำเนินต่อไปในซิลิคอนวัลเลย์ เพราะคนในวงการยังเชื่อว่าแนวปฏิบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดคดีอื้อฉาวแบบ Theranos ในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย
อ่านข่าวต้นฉบับ: คดี “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” สะท้อนสังคม “Fake it” ในซิลิคอนวัลเลย์