The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley
สารคดีเปลือยชีวิต อดีตเจ้าแม่สตาร์ตอัพลวงโลก
กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งสำหรับชื่อของ “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” อดีตนักธุรกิจสตาร์ตอัพที่เคยถูกขนานนามว่าเป็น “สตีฟ จ๊อบส์” แห่งวงการเทคโนโลยีการแพทย์ หลังจากคณะลูกขุนรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินว่า เธอมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับผู้อื่นในการก่อคดีฉ้อโกงนักลงทุนผ่านสายอิเล็กทรอนิกส์ 1 กระทง และการฉ้อโกงนักลงทุนเฉพาะรายอีก 3 กระทง ซึ่งแต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี โดยศาลจะนัดฟังคำพิพากษาโทษ และคาดว่า “เอลิซาเบธ” จะยื่นอุทธรณ์ในชั้นศาลต่อไป
เรื่องอื้อฉาวของ “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” กลายเป็นฝันร้ายของวงการสตาร์ตอัพ เมื่อเธอเคยขึ้นสู่จุดสูงสุดถูกยกให้เป็นทั้งดาวรุ่งและผู้จะมาพลิกปฏิวัติวงการแพทย์ บุคคลมีชื่อเสียง นักลงทุน นักการเมืองระดับโลก เซเลบริตี้ ต่างออกมาเป็นผู้สนับสนุนและเชื่อในเทคโนโลยี “เครื่องตรวจเลือดสุดอัจฉริยะ” ที่อ้างว่าสามารถตรวจจับโรคร้ายอย่างมะเร็ง หรือเบาหวานได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เลือดเพียงไม่กี่หยด ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจที่ไหนก็ได้ ซึ่งเครื่องนี้ผลิตและคิดค้นโดยบริษัทเธรานอสที่เธอก่อตั้ง
ขณะที่ความน่าเชื่อถือนี้ยังส่งผลให้เอลิซาเบธ กลายเป็นนักธุรกิจหญิงดาวรุ่งที่เดินสายพูดสร้างแรงบันดาลใจจนผู้คนเชื่อมั่นกันมากมาย นิตยสารฟอร์บส์ยกย่องว่าเธอเป็นเศรษฐินีที่อายุน้อยที่สุดในโลก ทั้งยังติด 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลของนิตยสารไทม์ เมื่อปี 2015 แต่สุดท้ายเธอก็ถูกสื่อดังเผยแพร่รายงานเชิงสืบสวนว่าเทคโนโลยีของบริษัทเธรานอสไม่สามารถใช้งานได้จริง ธุรกิจทั้งหมดเป็นเรื่องหลอกลวง และเส้นทางสตาร์ตอัพดาวรุ่งก็จบลง บริษัทปิดตัวในปี 2018
ใครที่สนใจติดตามเรื่องราวชนิดขุดคุ้ยเจาะลึกเรื่องราวของบริษัทสตาร์ตอัพเธรานอสที่ตั้งโดยเด็กสาวอัจฉริยะวัย 19 ในเวลานั้นอย่างเอลิซาเบธ โฮล์มส์ พร้อมกับมูลค่าบริษัทที่เคยพุ่งสูงสุดถึงกว่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กับการนำเสนอเทคโนโลยี “เครื่องตรวจเลือด” สุดไฮเทคที่จะมาปฏิวัติวงการแพทย์ ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ทำไมคนที่ทรงอิทธิพลในโลกถึงเชื่อเรื่องนี้ในช่วงแรกกันได้มากมาย จนมาสู่การสงสัยและแฉความไม่ชอบมาพากล ต้องไม่พลาดสารคดีเรื่อง “The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley”
สารคดีเรื่องนี้ พาเราไปเจาะลึกตั้งแต่ชีวิตของ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ที่ลาออกจากการเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาเคมี มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดตอนอายุ 19 ปี เพื่อมาปั้นธุรกิจสตาร์ตอัพด้านไบโอเทค เสนอผลิตภัณฑ์เครื่องตรวจเลือดพลิกวงการแพทย์ โดย “เอลิซาเบธ” เมื่อครั้งที่ยังโด่งดัง เธอมักจะเล่าเสมอว่ามีความฝันที่ต้องการให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองแบบง่ายดาย สะดวกและราคาประหยัด และความฝันที่เธอเชื่ออยู่บนฐานแนวคิดที่ว่าถ้าเราสามารถรู้สาเหตุของการก่อกำเนิดโรคทันเวลาก็จะทำให้การบำบัดเกิดผล และเราก็จะเปลี่ยนผลรักษาได้ โดยแรงบันดาลใจนี้มาจากการสูญเสียคนใกล้ตัว
เป็นเรื่องเล่าที่ “เอลิซาเบธ” สร้างเป็นจุดขายและจุดเริ่มต้นไอเดียให้กับธุรกิจสตาร์ตอัพของเธอ ด้วยภาพลักษณ์วิธีนำเสนอที่ว่ากันตรงๆ ว่า โคลนมาจากสตีฟ จ๊อบส์ เวลาอธิบายสรรพคุณไอพอด ไอโฟนเลยทีเดียว
เรื่องราวที่ถูกแฉว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” นี้จะค่อยๆ ปรากฏในสารคดีเริ่มจากข้อสงสัยของพนักงานเธรานอสที่ทำงานใกล้ชิด “เอลิซาเบธ” และพบว่าหลายการทดสอบที่ล้มเหลวนั้นผู้บริหารให้พวกเขาทำการปิดบัง และยังคงเดินหน้าราวกับโครงการนี้ประสบความสำเร็จ และความลวงโลกนี้ถึงขนาดที่ได้ดีลทำสัญญาธุรกิจกับร้านค้าปลีกขายยาชื่อดังจนสุดท้ายความจริงถูกเปิดเผยออกมาเมื่อนวัตกรรมนี้ใช้ไม่ได้จริง พร้อมด้วยการถูกเปิดโปงจากการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของ เดอะวอลสตรีท เจอร์นัล จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว ใช้เวลาไม่กี่ปี จากบริษัทมูลค่าเกือบหมื่นล้านดอลลาร์ จ้างงาน 800 ตำแหน่ง ลดเหลือมูลค่าเป็นศูนย์
สารคดีนี้เล่าได้น่าสนใจโดยเริ่มเทียบเคียงให้เห็นว่า หลายอย่างที่ดูเป็นไปไม่ได้ อันที่จริงมันก็เป็นไปได้ เช่นกรณี “โธมัส เอดิสัน” ที่พัฒนาหลอดไส้ไฟฟ้าขึ้นมาได้สำเร็จคนแรกของโลกท่ามกลางความล้มเหลวอยู่นาน นั่นทำให้จุดเริ่มต้นของ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ก็ไม่ได้ดูจะขายฝันเกินจริง เมื่อสตอรี่ของเธอก็คือการพยายามดันให้ผลิตภัณฑ์เครื่องตรวจเจาะเลือดอัจฉริยะ เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพใหม่ของโลก จนอาจกล่าวแบบง่ายๆ ได้ว่า “พูดไว้ก่อนจนกว่าจะทำได้จริง” ด้วยการตั้งเป้าจะสร้างสรรค์อะไรบางอย่างขึ้นมาบนแนวคิดว่ามันจะเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ แล้วจากนั้นก็หาทุนและพยายามทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ซึ่งวัฒนธรรมสตาร์ตอัพก็มีทั้งคนที่สำเร็จและล้มเหลว
ในสารคดีได้สำรวจความจริงอย่างรอบด้าน และวิเคราะห์ว่าทำไมเธรานอสและเอลิซาเบธ โฮล์มส์ ถึงได้มาถึงจุดสิ้นสุด พร้อมกับเล่าถึงตัวตนและภาพลักษณ์ของเอลิซาเบธ ที่ดูเป็นทั้ง นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักธุรกิจ โดยในสารคดี สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้สื่อข่าวที่เคยไปสัมภาษณ์พิเศษรายงานสกู๊ปเธรานอสอย่างเจาะลึก อดีตพนักงานบริษัทที่เห็นสิ่งผิดปกติ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
เรื่องราวของเธรานอสและเอลิซาเบธ โฮล์มส์ สะท้อนให้เห็นว่าโลกยุคนี้ที่ผู้คนมองเห็นไอดอล นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ บุคคลที่ถูกยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบมากมายจนราวกับว่าทุกคนต้องประสบความสำเร็จกับอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” คือคนที่มีความทะเยอทะยานในวงการ “ซิลิคอน วัลเลย์” แหล่งพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม เทคโนโลยีชื่อดังของโลก ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างต่อสู้คดี เธออ้างว่า เสียใจที่ดำเนินธุรกิจผิดพลาด และไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ใครๆ เข้าใจผิด เธอแค่เชื่อมั่นในทีมแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะได้ผลจริง
จะลวงโลกหรือไม่เจตนาลวงต้องไปพิสูจน์กันในสารคดี “The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley” ที่นำเสนอให้เห็นชีวิตของ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ที่หลงเข้าไปอยู่ในเขาวงกตของตัวเอง สับสนระหว่างสิ่งที่ทำให้เป็นจริงได้ กับสิ่งที่ทำให้โลกเชื่อ
ติสตู
(ภาพประกอบ Youtube Video / HBO)
The post The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley สารคดีเปลือยชีวิต อดีตเจ้าแม่สตาร์ตอัพลวงโลก appeared first on มติชนออนไลน์.