AIS ผนึกพันธมิตรพลิกเกม ลุยดีลร่วมทุนยักษ์ค้าปลีก

  “เอไอเอส” ไม่หยุดลงทุน ควัก 3-4 หมื่นล้าน อัพสปี […] อ่านข่าวต้นฉบับ: AIS ผนึกพันธมิตรพลิกเกม ลุยดีลร่วมทุนยักษ์ค้าปลีก

 

“เอไอเอส” ไม่หยุดลงทุน ควัก 3-4 หมื่นล้าน อัพสปีดธุรกิจยกระดับสู่ “องค์กรอัจฉริยะ” หวังสร้างความต่างหนีคู่แข่ง-เพิ่มสปีดตอบโจทย์ลูกค้า พร้อมเดินหน้าผนึกพันธมิตรไม่จำกัดรูปแบบสยายปีกบุกธุรกิจ “การเงิน-ค้าปลีก-สุขภาพ” เชื่อมฐานข้อมูลลูกค้าต่อยอดธุรกิจ กระทุ้ง “ปลาใหญ่ต้องช่วยปลาเล็ก” ฝ่าวิกฤตโควิด-19

“เอไอเอส” ไม่หยุดลงทุน ควัก 3-4 หมื่นล้าน อัพสปีดธุรกิจยกระดับสู่ “องค์กรอัจฉริยะ” หวังสร้างความต่างหนีคู่แข่ง-เพิ่มสปีดตอบโจทย์ลูกค้า พร้อมเดินหน้าผนึกพันธมิตรไม่จำกัดรูปแบบสยายปีกบุกธุรกิจ “การเงิน-ค้าปลีก-สุขภาพ” เชื่อมฐานข้อมูลลูกค้าต่อยอดธุรกิจ กระทุ้ง “ปลาใหญ่ต้องช่วยปลาเล็ก” ฝ่าวิกฤตโควิด-19

AIS อัพสปีดธุรกิจสร้างความต่าง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอไอเอสมีแผนลงทุนในปี 2565 ต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงข่าย และเพิ่มขีดความสามารถของระบบให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งที่จะไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วยกันอีกต่อไป บนเป้าหมายใหม่ที่จะมุ่งไปยังการยกระดับจาก “ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรไวเดอร์” สู่ “Cognitive Telco” หรือองค์กรอัจฉริยะ

“ปีนี้จะลงทุนไม่น้อยไปกว่าปีที่แล้ว แต่สัดส่วนจะต่างไป อาจไม่ต้องลง 5G เยอะเท่ากับปีก่อน เพราะครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว แต่จะเพิ่มในส่วนฟิกซ์บรอดแบนด์, อินเทลลิเจนซ์เน็ตเวิร์ก และไอทีแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้สอดรับกับการยกระดับองค์กรสู่ Cognitive Telco ซึ่งไม่ได้ทำให้ foundation ของเราเปลี่ยน ยังคงเป็นการนำสินค้าและบริการที่ไม่ใช่แค่การติดต่อสื่อสารไปให้ลูกค้า ที่ต้องเป็น Cognitive Telco

จาก 2 ปัจจัย 1.พอทุกอย่างเปลี่ยนเร็วไม่ใช่แค่เอไอเอสที่ปรับตัว องค์กรอื่น ๆ ก็ปรับ แม้แต่แบงก์ยังหันมาทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ต้องการเป็นเทคคอมปะนีกันหมด เราจึงไม่ได้แข่งกับแค่ทรู และดีแทคเท่านั้น แต่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ยังไม่นับ OTT ต่าง ๆ”

ดังนั้น การจะฉีกตนเองให้แตกต่างไปจากคู่แข่ง “Cognitive Telco” คือ คำตอบ สำหรับเอไอเอส

ขณะที่แนวทางในการดำเนินธุรกิจยังคงมุ่งไปใน 3 แกน คือ 1.โมบาย และฟิกซ์บรอดแบนด์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ที่แม้ว่าจะแข็งแรงอยู่แล้วก็ยังต้องพัฒนาให้แข็งแรงขึ้นไปอีก 2.ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร (enterprise business) ถือเป็นแผนระยะกลาง ที่จะมีบริการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น จากที่เคยมีแค่บริการมือถือ และบรอดแบนด์ เช่น มีบริการด้านคลาวด์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, ไอซีที และไอโอที เป็นต้น

ผนึกพันธมิตรบุก “ค้าปลีก-เฮลท์”

แกนที่ 3 เป็นบริการดิจิทัลต่าง ๆ ที่ในปีนี้จะเห็นความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจในแวดวงต่าง ๆ ในระดับที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งในธุรกิจค้าปลีก, ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพ (health) เป็นต้น หลังจากปลายปีที่ผ่านมาได้ประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้บริษัทใหม่ “เอไอเอสซีบี” เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) เต็มตัว ซึ่งจะมีการนำฐานข้อมูลลูกค้าของทั้งเอสซีบี และเอไอเอส มาวิเคราะห์ร่วมกัน คาดว่าจะเปิดบริการได้ภายในปลายไตรมาสแรกปีนี้

“ในดิจิทัลเซอร์วิสจะเป็นในลักษณะของการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่หลากหลาย มีทั้งร่วมทุนและโคพาร์ตเนอร์ชิปกัน เชื่อว่าผลจากความร่วมมือจะทำให้เราสามารถนำเสนอบริการที่มากกว่าเดิม และบริการที่ดีกว่าให้ลูกค้าได้”

เปิดกว้างทุกโมเดลความร่วมมือ

สำหรับรูปแบบความร่วมมือกับพันธมิตรจะเปิดกว้าง ตั้งแต่การร่วมทุนแบบเดียวกับที่ร่วมกับเอสซีบี ตั้งบริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด หรือเป็นแค่ความร่วมมือในลักษณะโคพาร์ตเนอร์ เช่นที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทยให้ลูกค้าเอไอเอส นำ AIS points มาซื้อสินค้าจากร้านค้าทั่วไทยที่รับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” เป็นต้น

“ความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เราไม่ได้ต้องการเข้าไปสู่ธุรกิจของพาร์ตเนอร์ อย่างค้าปลีก เราไม่ได้อยากทำพวกรีเทลหรืออีคอมเมิร์ซเอง แต่ต้องการนำแพลตฟอร์มของเราไปให้เขาใช้ เรามองเห็นว่าการที่จะรู้จักลูกค้า หรือเป็น cognitive telco ได้ จะต้องมีข้อมูลที่แข็งแรง 3 ส่วน คือ ด้านโทรคมนาคม, แบงกิ้ง และค้าปลีก ซึ่งแบงกิ้งเราเลือกเอสซีบี แต่ค้าปลีกจะเป็นรายไหนยังบอกไม่ได้ขอให้ติดตามดูกันไป แต่จะเป็นการนำเสนอไลฟ์สไตล์ด้านการช็อปปิ้งให้กับลูกค้าของเรา”

ผสานจุดแข็งกัลฟ์-สิงเทล

นายสมชัยยังพูดถึงการที่กัลฟ์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอินทัชบริษัทแม่ด้วยว่า การมีทั้งกัลฟ์ ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยเป็นผู้ถือหุ้น ร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิมคือกลุ่มสิงเทล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการทำธุรกิจระหว่างประเทศ จะยิ่งเสริมความแข็งแรงให้กับบริษัทมากขึ้น หากนำจุดแข็งที่ต่างฝ่ายต่างมีมาทำงานร่วมกันได้

“สิงเทล (Singtel) มีความเป็นรีจินอลที่สามารถคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของต่างชาติ เช่น ยูทูบ, Google ถ้าจะดึงเข้ามาในไทย ขณะที่กัลฟ์เป็นคนไทย จะมีลักษณะของความเป็นเจ้าของ ทำให้ตัดสินใจรวดเร็ว จะยิ่งทำให้เอไอเอสแข่งขันได้ดีขึ้น”

นายสมชัยกล่าวต่อว่า วิกฤตโควิดส่งผลกระทบกับทุกบริษัท รวมถึงเอไอเอสเอง แม้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และบรอดแบนด์จะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นมากจากการทำงานที่บ้าน และเรียนที่บ้าน รวมถึงการปรับตัวของธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาออนไลน์

ทำให้บริษัทต้องลงทุนเพิ่มต่อเนื่องเพื่อรักษาคุณภาพบริการ ขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมไม่ดีขึ้น จึงต้องปรับอัตราค่าบริการให้เหมาะสม ซึ่งคาดว่าปีนี้ในแง่กำลังซื้อก็คงจะไม่ต่างไปจากเดิม แต่ที่ยังไปได้ เนื่องจากภาครัฐยังคงใส่เงินลงมา ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กจำนวนมากประสบปัญหา

“ถ้าจะให้รอดไปด้วยกันได้ 1.บริษัทใหญ่ ๆ ที่แข็งแรงต้องช่วยเหลือสนับสนุนบริษัทหรือองค์กรเล็ก ๆ คือเป็นปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก และต้องทำจริง ๆ เช่น สมมุติว่าเราบอกว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม เมื่อสร้างมาให้องค์กรเล็กเข้ามามีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มนั้น ก็ต้องโอเพ่น จริง ๆ

เพราะหลังโควิดองค์กรใหญ่ ๆ อาจอยู่รอด แต่องค์กรเล็กๆ อาจไม่ได้แข็งแรงพอที่จะอยู่ได้ ไปได้ และ 2.รัฐบาลต้องกล้าจัดสรรเงินลงไปช่วยผู้ประกอบการรายย่อยแบบจริงจัง เพราะต่อให้เอกชนไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหน ก็ยังเป็นส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณของรัฐบาล”

อ่านข่าวต้นฉบับ: AIS ผนึกพันธมิตรพลิกเกม ลุยดีลร่วมทุนยักษ์ค้าปลีก