โควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งสำคัญทำให้อุตสาหกรรมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก (e-Book) โตขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านหนังสือของผู้บริโภคไปอย่างชัดเจน โดยวันนี้ผู้บริโภคไม่ยึดติดแล้วว่าต้องอ่านจากหนังสือเล่มหรืออีบุ๊ก
ขณะเดียวกัน สมรภูมิการแข่งขันของแพลตฟอร์มอีบุ๊กที่วางตัวเองเป็นร้านหนังสือออนไลน์ขายตรงให้แก่ผู้บริโภคก็มีการแข่งขันค่อนข้างดี อีกทั้งมีผู้เล่นที่แข็งแรงทั้งอุ๊คบี, เมพ คอร์ปอเรชั่น ทำให้ ไฮเท็คซ์ ดอทคอม ในขณะนั้นเริ่มมองหาช่องทางโอกาสใหม่ ๆ
“พัฒนา พิลึกฤาเดช” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไฮเท็คซ์อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ตลาดอีบุ๊กโตขึ้นแบบก้าวกระโดด
ซึ่งไม่ใช่แค่เชิงมูลค่าเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้บริโภคที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มอีบุ๊ก หรือ ไม่เคยใช้ ได้ทดลองเข้ามาใช้งานมากขึ้น เพราะโควิดทำให้ร้านหนังสือในศูนย์การค้าต้องปิดให้บริการลงชั่วคราว
ช่องทางการขายลดลงแต่ความต้องการอ่านหนังสือยังคงมีอยู่ทำให้ตลาดนี้โตขึ้นทั้งในเชิงมูลค่าและจำนวนผู้อ่าน โดย ปี2565 คาดว่าตลาดอีบุ๊กโดยรวมในไทยจะมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท เพราะว่าคนเริ่มปรับตัวเข้าหาดิจิทัลมากขึ้น
ชูอี-ผับ จุดขายสร้างความต่าง
“พัฒนา” กล่าวว่า ตลาดอีบุุ๊กในไทยก็มีผู้เล่นที่แข็งแรง ทั้ง อุุ๊คบี เมพ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีความแข็งแกร่งในตลาดคอนซูเมอร์ ทำให้ตอนนั้น ซึ่งยังเป็นบริษัท ไฮเท็คซ์ ดอทคอม จำกัด มองหาโอกาสจากช่องทางใหม่ ๆ
หนึ่งในนั้น คือ การจำหน่ายเครื่องอีรีดดิ้งจากต่างประเทศ และมีคอนเทนต์ให้สำหรับลูกค้าที่ซื้อเครื่อง ซึ่งตอนนั้น (ปี 2554) ถือว่าแตกต่างในตลาดแล้ว และก็มีฐานประจำอยู่จำนวนหนึ่ง
หลังจากนั้น ในปี 2558 ก็เริ่มดีลกับลูกค้ากลุ่มองค์กรมากขึ้น เช่น การทำสื่อเพื่อการศึกษาตามมาตรฐานสากล เป็นต้น ก่อนที่ปี 2560 ตัดสินใจร่วมดีลกับบริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจอีบุ๊ก
(หนึ่งในบริษัทสตาร์ตอัพที่บริษัท ซีโอแอล จำกัด ในเครือเซ็นทรัลเข้าลงทุนตั้งแต่ปี 2557) ตั้งบริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัดขึ้นมา โดยเมพฯถือหุ้น 75% และไฮเท็คซ์ฯถือหุ้น 25% เท่ากับว่ามีฐานะเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่ายของเซ็นทรัลไปด้วย
ผลจากการรวมตัวครั้งนี้ทำให้เมพฯกลายเป็นบริษัทแม่ของไฮเท็คซ์ฯ และแบ่งเซ็กเมนต์กันอย่างชัดเจน โดยเมพฯเจาะกลุ่ม B2C ส่วนไฮเท็คซ์ฯเจาะกลุ่ม B2B และมีการทำงานร่วมกันในบางส่วนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจซึ่งกันและกัน
เป้าหมายหลักของไฮเท็คซ์ฯขณะนั้นคือการขยายตลาดอีรีดดิ้งซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทอยู่แล้ว บวกกับการพัฒนาอีผับ (e-PUB) ฟีเจอร์เข้ามาเสริมทัพอีกแรง โดยฟีเจอร์นี้ทำให้การอ่านอีรีดดิ้งง่ายสะดวกมากขึ้น
และทำให้บริษัทแตกต่างจากอีบุ๊กเจ้าอื่น เพราะอีผับช่วยเพิ่มลูกเล่นในการอ่านให้ผู้ใช้งานอย่างหลากหลาย เช่น เปลี่ยนตัวสีของกระดาษ, ขยาย/ย่อขนาดตัวอักษร สามารถขยายตัวหนังสือและปรับแต่งได้ตามต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งใช้พื้นที่การเก็บข้อมูลไม่มาก
เมื่อการพัฒนาฟีเจอร์ บริการต่าง ๆ พร้อมมากขึ้น ในปี 2562 บริษัทจึงได้มองหาโอกาสใหม่ ๆ อีกครั้งด้วยการพัฒนาระบบห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) ขึ้น ซึ่งแล้วเสร็จก่อนโควิด-19 ระบาด
โดยแนวคิดหลักคือการพัฒนาหนังสือเด็กให้ได้มาตรฐานสากลและแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งจะเป็นเสมือนเครื่องมือในการช่วยเหลือสำนักพิมพ์ด้วย ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมี 5 บริการหลัก
ได้แก่ บริการอีบุ๊กพัฒนาอีบุ๊กให้แก่สำนักพิพม์ บริการ content distributor ซึ่งเป็นบริการที่สำนักพิมพ์นำผลงานมาฝากขายบนแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น Googlebook, Applebook เป็นต้น การบริการระบบห้องสมุดออนไลน์ และการจำหน่ายเครื่องอีรีดดิ้งซึ่งถือเป็นรายได้หลักปัจจุบัน
ลุยขยายระบบห้องสมุดออนไลน์
สำหรับทิศทางธุรกิจปี 2565 บริษัทจะรุกขยายธุรกิจอีไลบรารี่มากขึ้นด้วยการขยายฐานลูกค้ากลุ่มองค์กร ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เนื่องจากองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างมีห้องสมุดใช้อยู่แล้ว
แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หน่วยงานห้องสมุดไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงประชาชนก็ไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้เช่นเดียวกัน ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาดิจิทัล หลายองค์กรพยายามหาระบบเสริม แต่สุดท้ายก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยบริการอีไลบรารี่ตอบโจทย์นี้รวมถึงลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรเหล่านี้
“บริการห้องสมุดออนไลน์จะมาแก้จุดอ่อนของบริการห้องสมุดแบบเดิมโดยห้องสมุดออนไลน์อ่านหนังสือที่ไหนก็ได้ คัดเลือกหนังสือที่ตรงกับความต้องการ ขณะที่องค์กรที่ใช้บริการนี้สามารถควบคุมต้นทุนได้เพราะมีแพ็กเกจราคาหลากหลายตามงบฯขององค์กร”
“พัฒนา” กล่าวว่า ตลาดลูกค้าองค์กรค่อนข้างใหญ่ มีทั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ โรงเรียนขนาดกลาง ที่มีกว่า 14,000 ทั่วประเทศ ห้องสมุดประชาชน บริษัทมหาชน และหน่วยงานรัฐ
ซึ่งปี 2564 ที่ผ่านมามีฐานลูกค้าอยู่ที่ 70 ราย และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 400-500 ราย เนื่องจากมีพาร์ตเนอร์ 2 รายใหญ่เข้ามาช่วยในการขยายตลาด ทั้งบริษัท บุ๊คเน็ต จำกัด
ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจัดจำหน่ายหนังสือวิชาการ ช่วยเจาะตลาดอุดมศึกษา และบริษัท สยามจุลละมณฑล จำกัด เจาะตลาดห้องสมุดชุมชน และคาดว่าอนาคตบริการห้องสมุดออนไลน์จะกลายเป็นรายได้หลักของบริษัท
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโควิด-19 ทำให้ต้องล็อกดาวน์ เราเองก็ออกไปหาลูกค้าไม่ได้ต้องมีการปรับแผนใหม่ และคาดว่าปัจจัยนี้ก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปี 2565 หน่วยงานรัฐที่เริ่มจัดสรรงบประมาณห้องสมุดออนไลน์มากขึ้น
ก็เป็นโอกาสสำคัญของบริษัท อีกทั้งการกระจายวัคซีนก็ดีขึ้น ดังนั้น คาดว่าการขยายตลาดของบริษัทก็จะทำได้มากขึ้น และส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือมีรายได้โตขึ้น 2 หลัก และจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่บริษัทมีกำไรครั้งแรกตั้งแต่เปิดบริษัทมา”
เป้าหมายอีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเดินหน้าพัฒนาคอนเทนต์และระบบใหม่ ๆ ต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะขยายบริการใหม่เพิ่มขึ้น เช่น หนังสือเสียง คอร์สเรียนออนไลน์ โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะอีบุ๊กเท่านั้น
อ่านข่าวต้นฉบับ: ไฮเท็คซ์ฯเขย่าสูตรใหม่ ผุดห้องสมุดออนไลน์ หวังสลัดภาพอีบุ๊ก