ยาหมดอายุ เค้าดูกันยังไงนะ?

หลายๆคนเมื่อมีอาการป่วยไม่ค่อยชอบไปหาหมอ ไม่ชอบไปโรงพยาบาล ชอบซื้อยามาทานเองตามร้านขายยาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค หรือวิตามิน อาหารเสริมต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน

ภาพจาก : allwellhealthcare.com

หลายๆคนเมื่อมีอาการป่วยไม่ค่อยชอบไปหาหมอ ไม่ชอบไปโรงพยาบาล ชอบซื้อยามาทานเองตามร้านขายยาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค หรือวิตามิน อาหารเสริมต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน บางครั้งอาจซื้อมาโดยที่ไม่ได้สังเกตวันหมดอายุ และวันเดือนปีที่ผลิต แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่ายาที่ซื้อมานั้นหมดอายุแล้วหรือยัง วันนี้เรามาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จาก สำนักคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.กันดีกว่าค่ะ

วิธีสังเกตยาหมดอายุ

1.ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สามารถสังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน

2.ยาที่มีการแบ่งบรรจุออกจากบรรจุภัณฑ์เดิมของบริษัทผู้ผลิต ทั้งในรูปแบบของแข็งและของเหลว ให้มีอายุไม่เกิน 1 ปีหลังจากวันที่แบ่งบรรจุ แต่หากวันหมดอายุที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตสั้นกว่า ให้กำหนดอายุตามช่วงที่สั้นกว่า

3.ยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือนหลังจากเปิดใช้

4.ยาผงแห้งผสมน้ำ หลังจากผสมน้ำแล้ว อายุยาให้ยึดตามข้อมูลที่บริษัทระบุไว้บนฉลาก

5.ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (Preservative) จะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ แต่หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน

6.ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต ที่มีการเปิดใช้แล้ว ควรสังเกตลักษณะของยาควบคู่ไปด้วย หากลักษณะทางกายภาพของยา(สี กลิ่น รส)เปลี่ยนแปลงไป ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากการจัดเก็บยาไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามแนะนำบนฉลาก โดยเฉพาะยาที่ไวต่อสภาวะแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้น ยาจะเสื่อมสภาพหรือมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุได้

ภาพจาก : kapook

วิธีการสังเกตการเสื่อมสภาพของยา

1.ยาน้ำแขวนตะกอน เมื่อตั้งทิ้งไว้จะสังเกตเห็นว่ามีการแยกชั้น และเมื่อเขย่าขวดยาจะกลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ถ้ายาแขวนตะกอนนั้นเสื่อมสภาพ เมื่อเขย่าขวดแรง ๆ ยาจะไม่กลับมาเป็นเนื้อเดียวกันหรือตะกอนยังเกาะติดแน่นกัน

2.ยาน้ำบางประเภท อย่าง ยาน้ำที่มีตะกอนเบา ๆ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาน้ำแผนโบราณ ยาน้ำสตรี จะรู้ได้อย่างไรว่ายาเสื่อมสภาพหรือไม่ ต้องสังเกต สี กลิ่น และรสที่เปลี่ยนไป ส่วนยาน้ำที่เป็นน้ำใส เช่น ยาน้ำขับลมเด็ก หรือยาน้ำเชื่อม หากพบว่ามีตะกอนเกิดขึ้น หรือขุ่น เหมือนมีเยื่อเบาๆ ลอยอยู่ หรือกลิ่นสีรสเปลี่ยนไป แสดงว่ายาเสื่อมสภาพหรือเสียแล้วให้ทิ้งทันที

3.ยาเม็ด จะมีลักษณะเยิ้ม เม็ดแตก ชื้น บิ่น เปลี่ยนสี

4.ยาแคปซูล จะมีลักษณะแตกออกจากกัน บวม ชื้น หรือสีแคปซูลเปลี่ยนไป

ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรสังเกตลักษณะยาว่ามีการเปลี่ยนไปหรือไม่ เพื่อให้การทานยาของคุณไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยาทุกเม็ดที่ทานให้ประสิทธิภาพในการรักษาอย่างเต็มที่จริงๆ ค่ะ

ขอบคุณ ที่มา : oryor (อย.)