มารู้จักกับเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือโรครองช้ำ

คุณๆ ทั้งหลายคงเคยมีอาการปวดบริเวณส้นเท้า ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่าเกิดจากอะไร และอาการปวดนั้นก็ไม่มากมาย

ภาพจาก : sanook.com

คุณๆ ทั้งหลายคงเคยมีอาการปวดบริเวณส้นเท้า ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่าเกิดจากอะไร และอาการปวดนั้นก็ไม่มากมาย วันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่าค่ะ

อาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ หรือ กระดูกหัก เป็นต้น สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่ เชื่อว่าเป็นเพราะความเสื่อมบริเวณที่เส้นเอ็นฝ่าเท้าเกาะกับกระดูก พบมาก ในผู้หญิงวัยกลางคน ยืนหรือเดินนาน ๆ น้ำหนักตัวมาก ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม หรือ เท้าแบน เท้าบิด

อาการที่พบได้บ่อย คือ หลังจากนอนหรือนั่งสักพักหนึ่ง เมื่อเริ่มเดินลงน้ำหนักจะรู้สึกปวดส้นเท้ามาก แต่ หลังจากที่เดินไปได้สักพัก อาการปวดก็จะทุเลาลง แต่ถ้าเดินนาน ๆ ก็อาจปวดมากขึ้นอีกได้ มักจะปวดมากในช่วงตื่นนอนตอนเช้า และจะดีขึ้นในช่วงตอนสาย หรือ ตอนบ่าย ถ้ากระดกข้อเท้าขึ้นหรือกดที่ส้นเท้า จะปวดมากขึ้น
ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 30-70 ถ้าถ่ายภาพรังสีของเท้า จะพบว่ามีกระดูกงอกที่ไต้ฝ่าเท้าได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะพบกระดูกงอกจากภาพรังสี แต่ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับอาการปวดส้นเท้า จึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทุกคน

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ รักษาให้หายขาดได้ ด้วยวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด แต่อาจจะต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้ารักษาไปแล้ว 6 - 9 เดือน ก็ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

ภาพจาก : samitivejchinatown.com

แนวทางการรักษาด้วยตนเอง

  1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือ กิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การยืนหรือ เดินนาน ๆ เป็นต้น และควรออกกำลังที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้ามากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น
  2. บริหาร เพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง และ เส้นเอ็นฝ่าเท้า
  3. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า และ ใส่รองเท้าที่เหมาะสม ขนาดพอดีไม่หลวมเกินไป มีพื้นรองเท้าที่นุ่ม และมีแผ่นรองรับอุ้งเท้าให้นูนขึ้น อาจใช้แผ่นนุ่มๆ รองที่ส้นเท้า (หนา ½ นิ้ว) ใส่รองเท้าส้นสูงประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว หรือ ใช้แผ่นยางสำหรับรองส้นเท้าโดยเฉพาะ เช่น Heel cups , Tuli cups เป็นต้น
  4. ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น หรือ ใช้ยานวด นวดฝ่าเท้า หรือ ใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้าและส้นเท้า
  5. ลดน้ำหนัก เพราะถ้าน้ำหนักมาก เส้นเอ็นฝ่าเท้าก็ต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้ผลการรักษาไม่ดี และ หายช้า

แนวทางการรักษาโดยแพทย์

  1. รับประทานยา เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ
  2. ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณส้นเท้าจุดที่ปวด แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน เพราะอาจทำให้เกิดเส้นเอ็นฝ่าเท้าเปื่อยและขาดได้ ก่อนจะฉีดต้องทำความสะอาดที่ผิวหนังอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  3. ขณะฉีดยาสเตียรอยด์จะรู้สึกปวดแล้วก็จะชา แต่หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ ( ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ) ก็อาจเกิดอาการปวดซ้ำอีกครั้ง จึงควรรับประทานยา หรือ ประคบด้วยน้ำอุ่น กันไว้ก่อน
  4. ทำกายภาพบำบัด เช่น ใช้ความร้อนลึก (อัลตร้าซาวด์) ดัดยืดเส้นเอ็นฝ่าเท้า ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน เป็นต้น
  5. ใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ในตอนกลางคืน หรือ ถ้าเป็นมาก อาจต้องใส่เฝือกตลอดทั้งวัน
  6. การผ่าตัด จะทำก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล คือ อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังรับการรักษาอย่างเต็มที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 - 9 เดือน หรือ สาเหตุการปวดเกิดจากเส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าถูกกดทับ

ขอขอบคุณ ที่มา : healthcorners.com