ภาพจาก : sanook.com
บ่อยครั้งเราเองก็แอบเข้าใจว่ากระดาษทิชชู่นั้นใช้สำหรับซับน้ำมันจากอาหารได้ แต่ทางกรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า ห้ามใช้กระดาษทิชชู่ซับน้ำมัน จากอาหารเด็ดขาด เพราะมันจะเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็ง ทางที่ดีควรใช้กระดาษซับมันสำหรับอาหารที่ได้มาตรฐานดีที่สุด
เตือนประชาชนห้ามให้กระดาษทิชชู่ซับน้ำมันจากอาหาร เสี่ยงรับโซดาไฟและสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แนะใช้กระดาษซับมันอาหารที่ได้มาตรฐานสากล ย้ำหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารทอด
อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์คเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้กระดาษทิชชูซับอาหารทอด ว่า แม่บ้าน แม่ครัว หรือผู้ค้าอาหารไม่ควรใช้กระดาษทิชชู่มาซับน้ำมันจากอาหาร เพราะเนื้อเยื่อเล็กๆ ของกระดาษทิชชู่จะติดในอาหาร ทำให้เราได้รับสารเคมีต่างๆ ที่อยู่ในกระดาษทิชชู่ไปด้วย เนื่องจากกระดาษทิชชู่ผลิตมาจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ โดยมีวัตถุดิบคือต้นไม้ เช่น ต้นไผ่หรือต้นไม้อื่น ๆ แต่ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมีการนำกระดาษหมุนเวียนใหม่ เช่น กระดาษ A4 ที่ใช้แล้ว นำไปผลิตกระดาษทิชชู่ หรือแม้แต่กระดาษฟางที่ผลิตจากฟางข้าว ซึ่งในกระบวนการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อต้องใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟ และเพื่อความขาวน่าใช้จึงมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว และมีสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเป็นส่วนประกอบด้วย
ภาพจาก : sanook.com
สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟ เมื่อทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน จะมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อรุนแรง ทำให้บริเวณนั้นอ่อนนุ่มกลายเป็นวุ้นหรือเจลาตินและสบู่ เนื้อเยื่อถูกทำลายหรือถูกกัดลึกลงไป ซึ่งการทำลายอาจต่อเนื่องหลายวัน การหายใจเอาไอหรือละอองสารยังส่งผลให้ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้จาม ปวดคอ น้ำมูกไหล ปอดอักเสบรุนแรง หายใจขัด การสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง เป็นแผลไหม้และพุพองได้ การกลืนกินทำให้แสบไหม้บริเวณปาก คอ และกระเพาะอาหาร ส่วนสารไดออกซิน (dioxins) เป็นสารที่สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างชาติจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจะไม่ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน แต่อาการจะค่อยๆ เกิดและเพิ่มความรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้
“การซับน้ำมันจากอาหาร กระดาษที่ใช้จะสัมผัสกับอาหารโดยตรง จึงต้องเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะและต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) เป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร เป็นที่นิยมใช้ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหารข้ามชาติ หรือร้านอาหารฟาสฟู้ด ซึ่งจะต้องไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ไม่ปนเปื้อนเชื้อโรค ไม่มีสิ่งแปลกปลอมติดค้างอยู่ เช่น เศษกระดาษ นอกจากนี้ การนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาใช้ห่อบรรจุอาหารทอดต่างๆ ก็เป็นอันตราย เพราะน้ำมันจะเป็นตัวละลายสารเคมีในหมึกพิมพ์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้บริโภครับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย แม้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานกระดาษที่ผู้ค้านำมาซับมันจากอาหารได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารทอด เพื่อความปลอดภัยจากการรับสารเคมีตกค้าง และเพื่อสุขภาพ ที่ดีของผู้บริโภคด้วย”
ขอขอบคุณ ที่มา : กรมอนามัย