ลางสาด สรรพคุณและประโยชน์

ต้นลางสาด มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะมาลายู หมู่เกาะชวา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้ผลเมืองร้อน (ร้อนชื้น) มีลำต้นตรง

ภาพจาก : pantip.com

ลางสาด ชื่อสามัญ Langsat (ลานสาท), Lancet (ลานเสท), Langsium (ลานเซียม)

ลางสาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Lansium parasiticum (Osbeck) K.C.Sahni & Bennet (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aglaia domestica (Corrêa) Pellegr., Lansium domesticum Corrêa) จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)

ผลไม้ลางสาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รังสาด ลังสาด รางสาด ลางสาด (ไทย), ลาซะ ดูกู (มลายู) เป็นต้น โดยชื่อ “ลางสาด” หรือ “ลังสาด” นั้นมาจากภาษามาเลย์คำว่า “Langsat”

ลักษณะของลางสาด

ต้นลางสาด มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะมาลายู หมู่เกาะชวา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้ผลเมืองร้อน (ร้อนชื้น) มีลำต้นตรง สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นมุมแหลมกระจายกึ่งกลางลำต้นขึ้นไป ลักษณะปลายกิ่งตั้ง ส่วนผิวของลำต้นชั้นนอกมีสีเทาและขรุขระ เปลือกไม่หลุดออก เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือในดินร่วนปนทราย เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดด อากาศชื้นปานกลาง และมีน้ำปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนแบบควั่นกิ่ง การติดตา และการต่อกิ่ง

ใบลางสาด ใบเป็นใบประกอบ เกิดสลับซ้ายขวาอยู่ต่างระนาบกัน ก้านใบกลม ลักษณะใบเป็นรูปไข่รีโค้งมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ที่ผิวใบมีไขนวลปกคลุมอยู่ ใบมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างใบมีเส้นใบนูนเด่น

ดอกลางสาด ออกดอกเป็นช่อสีขาว ดอกเกิดตามลำต้นและตามกิ่ง ลักษณะของดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ

ผลลางสาด ออกผลเป็นช่อ ๆ ผลสดมีสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ผลมีลักษณะกลมรี เปลือกค่อนข้างบาง ผิวละเอียด ผลอ่อนนุ่ม มียางมากเป็นสีขาวขุ่น ๆ ส่วนเนื้อในนิ่ม ฉ่ำน้ำ มีรสหวานหอมอมเปรี้ยวเล็กน้อย ในผลมีเมล็ดมาก ประมาณ 5 เมล็ด และเมล็ดมีสีน้ำตาล ลักษณะกลมแบนรี มีเปลือกหุ้มบาง ๆ ผิวเมล็ดเรียบ มีเนื้อในสีขาว มีรสฝาดและขมจัด

ภาพจาก : d.dailynews.co.th

ลองกอง ลางสาด แตกต่างกันอย่างไร

  • ลองกองแพงกว่าลางสาด
  • ลางสาดผลมีลักษณะออกกลมรี ส่วนลองกองผลจะค่อนข้างกลม
  • ลางสาดเปลือกบาง ส่วนลองกองเปลือกจะค่อนข้างหนา
  • ลางสาดมีผิวละเอียด ส่วนลองกองผิวจะหยาบเล็กน้อย
  • สีเปลือกของลางสาดเป็นสีเหลืองสดใส ส่วนลองกองเป็นสีเหลืองซีด
  • เปลือกลางสาดมียางสีขาวขุ่น ส่วนลองกองจะไม่มียาง
  • ลางสาดแกะรับประทานได้ยาก เปลือกล่อนได้ไม่ดี ส่วนลองกองแกะรับประทานได้ง่าย เปลือกล่อนออกจากเนื้อได้ดี
  • ลางสาดมีผลกลมเรียบไม่มีจุก แต่ผลลองกองมีจุก
  • ลางสาดมีเมล็ดมาก (ประมาณ 5 เมล็ด) ส่วนลองกองมีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย
    เมล็ดของลางสาดมีรสขมมาก ส่วนลองกองเมล็ดจะไม่ขม
  • เนื้อลางสาดมีรสหวานอมเปรี้ยวกว่า ส่วนลองกองมีรสหวาน
  • ความหวานของลางสาดมีค่าประมาณ 15-16 องศาบริกซ์ ส่วนความหวานของลองกองจะมีค่าตั้งแต่ 16-19 องศาบริกซ์ สรุปก็คือลางสาดหวานน้อยกว่าลองกอง
  • เมื่อสุก เนื้อลางสาดจะฉ่ำน้ำ ส่วนเนื้อของลองกองจะแห้งและขาวใสเป็นแก้ว
    ลางสาดมีเนื้อน้อยกว่าลองกอง
  • ช่อผลของลางสาดจะสั้นกว่าช่อผลของลองกอง
  • ใบของลางสาดไม่ขม แต่ใบลองกองมีรสขมจัด
  • ใบลางสาดค่อนข้างเรียบ ส่วนใบของลองกองจะเป็นคลื่นใหญ่ร่องลึก

ภาพจาก : samunpri.com

สรรพคุณและประโยชน์ของลางสาด

  1. เมล็ดนำมาฝนกับน้ำฝนให้ข้น ใช้เป็นยาหยอดหู แก้อาการหูอักเสบหรือเป็นฝีในหูได้ (เมล็ด)
  2. เปลือกต้นมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ (เปลือกต้น)
  4. เปลือกผลมีสารโอเลอเรซิน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง (เปลือกผล)
  5. เปลือกผลช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน ด้วยการนำเปลือกมาหั่นแล้วนำไปคั่วชงกับน้ำเดือด ใช้กินครั้งละครึ่งถ้วย (เปลือกผล)
  6. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เปลือกต้น, เมล็ด)
  7. ช่วยรักษาโรคเริม (เมล็ด)
  8. เมล็ดช่วยรักษาโรคงูสวัด (เมล็ด)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , medthai