ลองกอง สรรพคุณและประโยชน์

ผลไม้ลองกอง ผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหมู่เกาะชวา เกาะมลายู ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย

ภาพจาก : thaiarcheep.com

ลองกอง ชื่อสามัญ Longkong

ลองกอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lansium domesticum Corr. จัดเป็นพืชที่อยู่ในชนิดเดียวกันกับลางสาดและลูกู หรือ ดูกู (Duku) โดยจัดอยู่ในวงศ์ MELIACEAE เช่นเดียวกับกระท้อน กัดลิ้น ตะบูนขาว ตะบูนดำ และสะเดา

ลองกอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลังสาดเขา (นครศรีธรรมราช) ส่วนชื่อลองกองนั้นมาจากชื่อพื้นเมืองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผลไม้ลองกอง ผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหมู่เกาะชวา เกาะมลายู ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย ในจังหวัดนราธิวาส และยังมีในประเทศทางแถบซูรินัม เปอร์โตริโก ออสเตรเลีย และฮาวาย โดยประเทศไทยสามารถผลิตลองกองที่มีคุณภาพได้ดีที่สุด เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมในการปลูกที่เหมาะสม แต่พื้นที่ที่สามารถทำการปลูกลองกองได้ยังมีจำกัด ทำให้มีผลผลิตน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้ผลไม้ชนิดนี้มีราคาสูง และจัดได้ว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอีกชนิดหนึ่ง โดยแหล่งเพาะปลูกลองกองในประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือและภาคกลางก็มีปลูกอยู่บ้างเล็กน้อย

ภาพจาก : ifit4health

สายพันธุ์ลองกอง

พันธุ์ลองกอง ในประเทศไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง โดยสายพันธุ์ลองกองที่สามารถรวบรวมได้ทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 7 สายพันธุ์ ได้แก่ ลองกองทั่วไป, ลองกองแกแลแมร์ (ลองกองแปรแมร์), ลองกองคันธุลี, ลองกองธารโต, ลองกองไม้, ลองกองเปลือกบาง, และลองกองกาญจนดิษฐ์ ซึ่งในแต่ละสายพันธุ์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ลองกองแห้ง (เนื้อใสแห้ง รสหวาน กลิ่นหอม เปลือกเหลืองคล้ำและไม่มียาง), ลองกองน้ำ (เนื้อฉ่ำน้ำ สีเปลือกเหลืองสว่าง), และลองกองกะละแม (แกแลแม, ปาลาเม, แปรแมร์) (เนื้อนิ่ม กลิ่นไม่หอม เปลือกบางและมียางเล็กน้อย) โดยลองกองแห้งจะเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในการปลูกเป็นการค้ามากที่สุด เนื่องจากเป็นชนิดที่มีผลคุณภาพดี เนื้อมีรสหวานหอม มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย และเมล็ดยังไม่ขมอีกด้วย ดังนั้นสายพันธุ์ของลองกองจึงควรจะมีเพียงสายพันธุ์เดียว เพราะเป็นประโยชน์ในการค้า ไม่จำเป็นต้องแยกชนิดพันธุ์ เพราะคุณภาพนั้นเป็นที่ยอมรับของตลาดอยู่แล้ว

ลักษณะของกอง

ต้นลองกอง ในส่วนของลำต้นไม่กลมนัก มักมีสันนูนและรอยเว้าอยู่บ้าง ผิวเปลือกค่อนข้างหยาบ ไม่เรียบ แตกกิ่งแขนงภายในเป็นทรงพุ่มไม่กลมตรง มีแอ่งเว้าตามรอยของง่ามกิ่งและตามลำต้นให้เห็นเป็นระยะ ลักษณะเป็นรอยสูงต่ำ เป็นคลื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ปลูกด้วย ถ้าหากปลูกภายใต้ร่มเงาทึบหรือมีไม้อื่นมาก ลำต้นก็จะสูงชะลูดและผิวเปลือกจะค่อนข้างเรียบ แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีร่มเงาน้อย ลำต้นมักจะแผ่เป็นพุ่มกว้าง ๆ และมีผิวเปลือกที่หยาบ ขยายพันธุ์ได้หลายวิธีทั้งวิธีการเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การต่อกิ่ง หรือการเสียบยอดและเสียบข้าง และวิธีการติดตา

รากลองกอง ระบบของรากลองกองจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดสายพันธุ์ที่ทำการเพาะปลูก แต่โดยทั่วไปแล้วรากแขนงของลองกองจะมีขนาดใหญ่และหยาบ เจริญแผ่ไปทางแนวราบของผิวหน้าดิน เมื่อต้นมีอายุมากจะมองเห็นรากส่วนนี้แยกจากโคนต้นที่ติดดินได้ชัดเจน และต่อจากรากแขนงจะเป็นรากฝอย ซึ่งทำหน้าที่ในการดูดซับน้ำและอาหาร เจริญแผ่ไปตามหน้าดินตื้น ๆ

ภาพจาก : farmkaset.org

ใบลองกอง ใบเป็นใบรวมมี 5-9 ใบย่อย ใบกว้างประมาณ 2-6 นิ้วและยาวประมาณ 4-8 นิ้ว และมีก้านใบย่อย ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ดำเป็นมัน และมีรอยหยักเป็นคลื่นหนากว่าใบของลางสาด ผิวใบด้านบนจะเข้มกว่าผิวใบด้านล่าง ลักษณะของใบเป็นแบบ elliptical โดยมีปลายใบเรียวแหลม ส่วนโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ลักษณะของเส้นใบเป็นแบบแยกออกจากเส้นกลางใบเหมือนร่างแห โดยเส้นใบด้านใต้ท้องใบของลองกองจะเรียวเล็กนูน คมชัดกว่าใบของดูกูน้ำ

ดอกลองกอง ตาดอกมีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง มีสีน้ำตาลอมเขียว มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร โดยส่วนนี้จะเจริญเป็นช่อดอกยาวเรียกว่า Spike ซึ่งอาจจะพบเป็นช่อดอกแบบเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 2-10 ช่อดอก โดยจะแตกออกตามลำต้นและกิ่งที่สมบูรณ์ ดอกลองกองเมื่อบานจะมีสีเหลืองนวล มีกลีบเลี้ยงลักษณะอวบสีเขียว และจะติดอยู่จนกระทั่งผลแก่ ดอกมีเกสรตัวผู้เป็นท่อสั้น ๆ อยู่ 10 ก้าน ฐานหลอมรวมกัน ส่วนการบานของดอกโดยทั่วไปแล้วจะเริ่มจากบริเวณ 2 ใน 3 ของช่อดอกจากปลายช่อ บานลงมาถึงโคนช่อ จากนั้นจะเริ่มบานขึ้นไปถึงปลายช่อ

ผลลองกอง ออกผลเป็นช่อแน่นติดกับก้านช่อ ลักษณะของผลมีทั้งทรงกลมและทรงยาวรี ซึ่งการที่มีผลในช่อแน่นอาจทำให้รูปทรงของผลแตกต่างกันออกไป ส่วนลักษณะของเปลือกจะหนากว่าลางสาดอยู่มาก เนื้อในผลมีรสหวานหอม

เมล็ดลองกอง ในผลลองกองหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-2 เมล็ด โดยเมล็ดที่สมบูรณ์จะมีขนาดใหญ่ ภายในผลส่วนใหญ่แล้วจะมีช่องอยู่ 5 ช่อง และเมล็ดมักจะลีบ ลักษณะเมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีเขียวอมเหลือง ตัวเมล็ดจะมีรอยแตกร้าวเป็นส่วนมาก ส่วนรสชาติของเมล็ดไม่ขม ถ้าหากนำมาเพาะจะขึ้นหลายต้นจากเมล็ดเดียว

ภาพจาก : health.kapook.com

สรรพคุณและประโยชน์ลองกอง

  1. เมล็ดลองกองมีสารสำคัญที่ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (เมล็ด)
  2. ช่วยลดความร้อนในร่างกาย หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ตัวร้อน และยังช่วยลดอาการร้อนในช่องปากได้ด้วย (เนื้อลองกอง)
  3. เมล็ดรักษาอาการไข้ (เมล็ด)
  4. มีการนำเปลือกต้นมาสกัดเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย (เปลือกต้น)
  5. ใบลองกองมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้ถึง 50% (ใบ) เมล็ดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรียและยับยั้งการเจริญของปรสิตมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) ได้ถึง 50% (เมล็ด)
  6. เปลือกผลนำไปตากแห้งแล้วเผาให้เกิดควัน ใช้สูดดมเพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค (เปลือกผล)
  7. น้ำจากผลมีการนำไปใช้หยอดตาเพื่อช่วยรักษาอาการตาอักเสบ (น้ำจากผล)
  8. เปลือกต้นลองกองสามารถนำมาใช้เป็นยาต้มกินเพื่อช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ได้ (เปลือกต้น)
  9. ใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะ (กิ่ง)
  10. ใช้ในการรักษาอาการท้องเสียและอาการลำไส้เกร็ง (เมล็ด)
  11. เปลือกต้นและใบใช้เป็นยาต้มสำหรับรักษาโรคบิด (เปลือกต้น, ใบ)
  12. ในเปลือกมีสารประเภท Oleoresin จำนวนมาก จึงมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคท้องร่วง อาการปวดท้อง (เปลือกผล)
  13. เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด)
  14. สารสกัดจากเปลือกต้นสามารถช่วยแก้พิษแมงป่องได้ (เปลือกต้น)
  15. ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น) ส่วนเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน (เมล็ด)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)