หัวไชเท้า(ผักกาดหัว) สรรพคุณและประโยชน์
ผักกาดหัว ชื่อสามัญ Daikon, Daikon radish, Radish, White radish
ผักกาดหัว (หัวไชเท้า) ชื่อวิทยาศาสตร์ Raphanus sativus L., Raphanus sativus var. hortensis Backer, Raphanus sativus var. longipinnatus L.H. Bailey, Raphanus sativus var. niger (Mill.) J.Kern. จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)
ผักกาดหัว (หัวไชเท้า)มีชื่อเรียกอื่นว่า ไช่เท้า ไช่โป๊ หัวไชเท้า หัวไช้เท้า หัวผักกาด หัวผักกาดขาว (ทั่วไป), ผักกาดจีน(ลำปาง), ผักขี้หูด ผักเปิ๊กหัว (ภาคเหนือ), ผักกาดหัว (ภาคกลาง) เป็นต้น
ผักกาดหัว (หัวไชเท้า) มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีน โดยทั่วไปแล้วเจ้าหัวผักกาดนี้จะมีอยู่ด้วยกันหลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีขาว สีแดง สีม่วง สีชมพู และขนาดก็จะแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์แยกย่อย (Subspecies)
ผักกาดหัว (หัวไชเท้า) ตามตำราจีนนั้นถือว่ามีฤทธิ์เป็นยาเย็น แต่มีรสเผ็ดร้อน ซึ่งถือว่าผักชนิดนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานของปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ช่วยดับกระหายคลายร้อน แก้อาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ซึ่งหากรับประทานผักกาดหัวไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะได้รับการบรรเทาให้ดีขึ้น เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาเย็น จึงไม่ควรที่จะรับประทานหัวผักกาดกับยาหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนอย่างโสมหรือตังกุย เพราะมันอาจจะไปสะเทินฤทธิ์กันเอง ทำให้โสมหรือตังกุยออกฤทธิ์ไม่ดีเท่าที่ควร แต่อย่าเข้าใจผิดไปว่าหัวผักกาดนี้มันจะไปทำลายฤทธิ์ของยาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ทั้งหมด และการรับประทานหัวผักกาดนั้นจะรับประทานสุกหรือดิบก็ได้ แต่การรับประทานแบบดิบ ๆ นั้นจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า
ประโยชน์ของผักกาดหัว
1.ประโยชน์ของหัวผักกาด สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทองเชื่อว่ามีส่วนช่วยทำให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง ดูมีน้ำมีนวลเหมือนคนหนุ่มสาว
2.เป็นผักสมุนไพรที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นหวัด มีอาการไอ คออักเสบเรื้อรัง และมีเสียงแหบแห้ง ด้วยการนำหัวไชเท้าสดมาล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ไว้ในขวดแก้ว หลังจากนั้นโรยน้ำตาล 2-3 ช้อนโต๊ะ ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน แล้วรินน้ำดื่มเป็นประจำ
3.คั้นเป็นน้ำดื่มดับกระหาย ด้วยการนำหัวไชเท้าสดมาคั้นเอาน้ำแล้วเติมน้ำขิง น้ำตาลทรายขาวพอหวาน แล้วนำมาต้มให้เดือดแล้วจิบบ่อย ๆ
4.แก้อาการปวดศีรษะข้างเดียว (ราก)
5.สรรพคุณหัวไชเท้า ช่วยในการขับและละลายเสมหะ
6.แก้อาการไอหอบ มีเสมหะมาก (เมล็ด)
7.ช่วยเรียกน้ำลาย (ราก)
8.ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก
9.ช่วยชำระล้างผนังกระเพาะอาหารและลำไส้
10.ช่วยสมานลำไส้ (ราก)
11.มีส่วนช่วยให้ปัสสาวะใส ไม่ขุ่น
12.ช่วยบำรุงม้าม (ราก)
ขอบคุณ ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , หมอชาวบ้าน
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต