การที่คุณแม่ให้ความสนใจกับการดิ้นของทารกในครรภ์จะเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์เพราะทำให้หมอสามารถคะเนอายุครรภ์ของคุณแม่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปคุณแม่จะรู้สึกว่าลูกในท้องดิ้นครั้งแรกเมื่อครรภ์มีอายุได้ 16-20 สัปดาห์ แต่ถ้าหากใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์ก็สามารถเห็นความเคลื่อนไหวของทารกได้ตั้งแต่มีอายุครรภ์ได้ 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ได้มีการศึกษาการดิ้นของทารกโดยเริ่มตั้งแต่ 8.00 น. จนครบ 12 ชั่วโมง และเรียกการทดสอบนี้ว่า Daily fetal movement record ซึ่งพบว่าเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ทารกจะดิ้นประมาณ 200 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมง จากนั้นจะดิ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่ออายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ ก็จะดิ้น 575 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมง และหลังจากนั้นทารกก็จะดิ้นน้อยลงจนเมื่ออายุครรภ์ได้ 40 สัปดาห์ จะดิ้น 282 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมง นอกจากนี้ทารกจะมีช่วงเวลาหลับ และตื่นแตกต่างจากเวลาของคุณแม่ คือในช่วงเวลาหลับ 1 รอบของทารกจะยาวนาน 20-75 นาที และมีการดิ้นในช่วงเวลาของแต่ละวันไม่เท่ากันอีกด้วย โดยช่วงเวลาที่ดิ้นมากคือช่วงเวลาประมาณ 21.00-01.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ทารกตื่น
องค์ประกอบที่เป็นปัจจัยในการดิ้นของทารกในครรภ์ ได้แก่ ปริมาณน้ำคร่ำ ระดับกลูโคสในเลือดของคุณแม่ สารอาหารที่คุณแม่ได้รับ การสูบบุหรี่ เสียงภายนอก แสง คลื่นเสียงความถี่สูง ท่าของคุณแม่ อาชีพ และที่สำคัญคือความสนใจของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เพราะถ้าหากทารกมีการดิ้นน้อยลงอาจเกิดจากภาวะขาดออกซิเจนแบบเรื้อรัง ดังนั้นคุณแม่จะต้องคอยสังเกต รวมถึงเอาใจใส่การดิ้นของลูกอยู่เสมอ เพื่อดูความผิดปกติที่อาจเกิดได้
ขอขอบคุณ นิตยสารเรื่องผู้หญิง ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต